วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/35 (1)


พระอาจารย์
1/35 (25530526E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  4  ช่วงบทความ)

โยม –  จะเรียกได้ว่า สิ่งที่รู้คือสิ่งที่ดับ รู้ปุ๊บมันก็คือแทบจะดับปั๊บเลย

พระอาจารย์ –  รู้ปุ๊บแล้วจะดับปั๊บได้ด้วยจิตเดียวเท่านั้นที่เป็นสัมมาสติ ...ถ้าไม่ใช่สัมมาสติ รู้ปุ๊บ...ต่อปั๊บ รู้ปุ๊บ...คาเติ่งอยู่นั่นแหละ รู้ปุ๊บ...หงุดหงิด แล้วก็ยังหงุดหงิด แล้วก็หงุดหงิดมากขึ้น

ก็รู้อยู่น่ะ ทำไมรู้ปุ๊บไม่ดับปั๊บล่ะ  ถ้ารู้ปุ๊บดับปั๊บนี่ หมายความว่า นั่นคือสัมมาสติ ...แต่สัมมาสติไม่ใช่มารู้อารมณ์ สัมมาสติไม่ใช่มารู้เวทนา สัมมาสติไม่ใช่มารู้จิตหรืออาการของจิต

สัมมาสติท่านรู้เป็นมหาสติ คือรู้ก่อนที่จะเป็นกาย เวทนา จิต และธรรม ...ไม่ใช่รู้ตอนที่เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ...ถ้ารู้ตอนที่เป็นกาย เวทนา จิต ธรรม นั่นรู้ด้วยสติปัฏฐาน หรือสติธรรมดา

แต่ถ้าเป็นสัมมาสติเมื่อไหร่ หรือเป็นมหาสติเมื่อไหร่ ...รู้ก่อนที่จะเป็นกายเวทนาจิตธรรม รู้ก่อนที่จะเกิดเป็นกาย รู้ก่อนที่จะเกิดเป็นรูป รู้ก่อนที่จะเกิดเป็นนาม

เพราะนั้นในขณะที่รู้ปั๊บนี่ รูป-นาม..ยังไม่ทันเป็นรูปเป็นนามนะ..ดับ  มันดับก่อนเป็นรูปเป็นนาม ...ตรงนั้นถึงจะเรียกว่ามหาสติ หรือสติใหญ่ ...ยังไม่ทันเป็นรูป ยังไม่ทันเป็นนามเลย..ดับแล้ว

นั่น ทำเอาไม่ได้ ทำขึ้นมาไม่ได้ ...แต่สร้างปัจจัยให้เกิดสัมมาสติได้ ด้วยสติปัฏฐาน ...คือรู้เข้าไปเหอะ ด้วยสติที่เป็นกลางนะ สติปัฏฐานที่เป็นกลาง

ไม่ใช่สติปัฏฐานที่จงใจกำหนด พุทโธๆๆ ให้ได้อะไร หรือให้จิตนิ่งๆๆๆ ห้ามออกจากนิ่งนะ ...อันนี้ไม่เกิดสัมมาสติเลยนะ จะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติ

แต่จะเป็นปัจจัยให้เกิดปีติ สุข อภิญญา รู้วาระจิต เห็นชาตินั้นชาตินี้ได้ หรือเห็นกายเป็นแก้ว เป็นกระดูก เป็นซากศพ เพ่งเข้าไป ดูมันเข้าไป เดี๋ยวก็ได้เห็นเอง ...แต่ไม่เกิดสัมมาสติ เข้าใจมั้ย

ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติได้ด้วยสติปัฏฐาน หรือสติที่รู้เป็นกลางๆ ในองค์มรรค คือมัชฌิมา ...คือรู้แบบไม่มีเงื่อนไข อะไรก็ได้ มากก็ได้ น้อยก็ได้ เกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้

นั่งดูปุ๊บนี่ ดูเลย รู้เฉยๆ มันจะคิดก็คิด ไม่คิดก็ไม่คิด  สงบก็สงบ ไม่สงบก็ไม่สงบ ไม่ได้ทำอะไร ...อะไรก็ได้ รู้ไป รู้เข้าไป อะไรก็ได้ ...รู้เฉยๆ อย่างนี้ นี่คือปัจจัยให้เกิดสัมมาสติ

ทั้งๆ ที่ว่านั่งแล้วไม่ได้อะไร ไม่ปรารถนาอะไรเลยนั่นแหละ ...มันจะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติ เพราะมันจะอยู่ในฐานของความเป็นปกติ

ปกติ ปกติแปลว่าไม่มีเจตนาทำอะไร ไม่ปรารถนา ไม่กระทำตรงนั้น ต่อกาย ต่อจิต ...ปกติคือศีล ศีลไม่ได้แปลว่าข้อห้าม เข้าใจมั้ย ...ต้องเข้าใจก่อนนะ

ศีลที่แท้จริงไม่ได้แปลว่าห้ามทำอะไรเลย หรือว่าต้องทำอะไร ...แต่ “ศีล” แปลตามความหมายของศีลสมาธิปัญญา ท่านเรียกว่าปกติ แปลว่าปกติ


โยม –  เวลาเราฟุ้งซ่าน หงุดหงิด มีความสงสัย แล้วเราพุทโธ หรืออิติปิโสดู เพื่อ...

พระอาจารย์ –  ดับมัน คลายมัน


โยม –  ค่ะ อันนี้เราควรจะเลิกคิดโดยการบังคับ หรือว่าถ้าเราพุทโธหรืออิติปิโส แล้วเราคลาย แล้วมาอยู่ตรงกลางๆ อันนี้คือบังคับรึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ก็บังคับ


โยม –  แต่ว่ามันก็หาย

พระอาจารย์ –  ก็หาย


โยม –  แล้วมันก็มาอยู่ตรงกลางๆ ได้ อันนี้ใช้ได้ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ก็ได้ แต่ว่าเราใช้ด้วยอุบาย มันมีอุบาย ...แล้วเวลาบางอุบายหรือบางอารมณ์นี่มันใช้ไม่ได้ล่ะ


โยม –  แต่บางทีมันก็...สมมุตินะคะ อย่างขับรถอยู่นี้ค่ะ เราโกรธไปแล้ว แล้วเราอยากหาย เราก็ทำ

พระอาจารย์ –  อือ ก็ได้


โยม –  แต่บางทีมันไม่ได้

พระอาจารย์ –  ไม่ได้ก็ไม่ได้


โยม –  แต่บางทีสมมุติมีเรื่องเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่เราไม่อยากคิด ไม่อยากอยู่ตรงนั้นแล้ว เราก็มาสวดมนต์ อยู่กับสวดมนต์ นี่ถือว่าเราหนีรึเปล่า

พระอาจารย์ –  หลบ ...ไม่เรียกว่าหนี เรียกว่าหลบก่อน


โยม –  ค่ะ มันก็เป็นวิธีหนึ่งที่เราให้จิตเรากลับมาได้บางที  แต่บางทีก็เอาไม่อยู่ อิติปิโส พุทโธอะไรก็ไม่อยู่ ...แต่มันก็คิดขึ้นมาเองได้ว่านี่เราใช้อุบายอยู่

พระอาจารย์ –  อือ แต่เราไม่สนับสนุน


โยม –  ค่ะ แต่อันนี้เรารู้แล้วว่าเราใช้อุบายอยู่ เราหนีอยู่นะ ...แล้วมันกลับมาได้นี่ ถือว่าปกติหรือไม่ปกติคะ

พระอาจารย์ –  ปกติ กลับมายอมรับมันปกติ


โยม –  ก็ปล่อยมันไป ให้เป็นปกติของมันไปตามจิตที่มันเป็นไป

พระอาจารย์ –  แต่ว่าเราอย่าไปจ่ออยู่ตรงนั้น


โยม –  ไม่จ่อแล้วค่ะ บางทีจะจ่อ แต่เดี๋ยวนี้ไม่จ่อ แล้วมันก็...อ้อ รู้เอง

พระอาจารย์ –  อย่าไปจ่อกับอารมณ์นั้นๆ ...ถึงบอกว่าให้แบ่งออกมารู้กาย แล้วก็หยั่งลงไปนิดนึง อย่างนี้ไม่เรียกว่าหนี ...เพราะว่าใช้สติย้ายการเพียรเพ่งในอาการนั้นออกมา ไม่มีจุดประสงค์ใด

แต่ถ้าเราใช้พุทโธ หรือว่าใช้คำพูด หรือว่าใช้ความคิดเข้ามาละความคิด ใช้พุทโธมาละอารมณ์หรืออะไรพวกนี้ ...นี่ มันมีเป้าหมาย


โยม –  แต่ก่อนก็มีใช้ค่ะ

พระอาจารย์ –  ได้ ลักษณะนี้ เริ่มต้นน่ะ มันต้องใช้สังขารจิต บางทีต้องใช้ หรือเอาคำพูดของครูบาอาจารย์มาตัดก็ยังได้...เป็นอุบาย ...แต่ว่าอย่าใช้บ่อยเท่านั้นเอง อดทน ต้องอดทน

ต้องอดทนน่ะ อดทน ไม่แก้ทุกข์น่ะ อดทนด้วยการที่ยอมรับมันน่ะ ...แต่ว่าไม่ใช่อดทนที่จะอยู่กับมันตลอดเวลา อดทนในการที่ให้มันรู้ที่อื่น...แล้วก็ “ช่างมันๆ” อย่าไปยุ่งกับมัน


โยม –  แต่ตอนนี้ก็ “ช่างมัน” เยอะ

พระอาจารย์ –  เออ อย่างนั้น แล้วมันจะค่อยๆ มองเป็นคนละส่วนกัน ...ทุกข์ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่เกี่ยวกันแล้ว เป็นเรื่องของกาย เป็นเรื่องของจิตเขาบีบคั้นออกมาเท่านั้น เราไม่เกี่ยว ไม่ใช่เรื่องของเรา

มันจะค่อยๆ เข้าใจตรงนั้น ...ตรงนั้นจะยอมรับด้วยปัญญาแล้ว จะทุกข์ขนาดไหนก็ไม่เดือดร้อน จะคิดไปจนไม่มีจบสิ้น จนนอนไม่หลับข้ามวันข้ามคืนก็เฉยๆ


โยม –  แล้วถ้าเกิดเราผ่านตรงนั้นไปแล้ว เรารู้สึกว่า เออ เราเก่งนะ อย่างนี้ผิดไหมคะ

พระอาจารย์ –  เราไม่เรียกว่าผิด เราไม่เรียกว่าถูก...ให้รู้ ให้รู้ว่ามีความคิดอย่างนั้นอีกแล้ว มีความรู้สึกอย่างนั้นอีกแล้ว อย่าไปบอกว่าผิด อย่าไปบอกว่าถูก ...แค่รู้

โยม –  แบบเหมือนไม่ได้เจ๋งน่ะค่ะ เหมือนขอบคุณมากที่เราคิดได้อย่างนี้ค่ะ


พระอาจารย์ –  ก็รู้ มีอะไรก็รู้ แค่นั้นเองน่ะ  เราไม่เคยบอกว่าอะไรผิด ...สิ่งที่มันเกิดขึ้นทุกอย่าง เราบอก...ถูกหมดแหละ มันจะผิดต่อเมื่อไม่เห็นกับไม่รู้ เข้าใจมั้ย

ไม่ใช่คอยมาไล่อันนี้ถูกหรืออันนี้ผิด นั่นคือไปให้ค่าหรือบัญญัติหรือสมมุติขึ้นมา ...มันไม่ได้ว่าเป็นอะไรหรอก แต่ให้รู้ว่ามันมีอาการนี้ขึ้นมา  


โยม –  อย่างล่าสุดน่ะค่ะ หลานประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ตอนที่เรารู้ เราจะแบบ..โอ้  แล้วก็กลับมา..อ๋อ นี่มันคือสัจธรรม แล้วเราก็รักษาอาการปกติ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปรักษามัน


โยม –  ตอนแรกมันตกใจ ก็โอ...จิตออกไปแล้ว

พระอาจารย์ –  ดีแล้ว ให้รู้อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องไปทำอะไร  บอกแล้วว่าตอนนี้ยังไม่เข้าใจว่าไม่ต้องทำอะไรกับมัน ...ต่อไปมันจะเข้าใจความหมายนี้มากขึ้น...ว่าการไม่ทำอะไรเลยคืออะไร

แล้วก็หยุดการกระทำมากขึ้น แล้วมันจะค่อยๆ เป็นแบบ...พอต่อไปนะ พอเริ่มจะไปยุ่งกับมันนะ เริ่มจะไปกระทำ เริ่มจะไปตีค่าตีความหมายปุ๊บ ...มันจะรู้สึกฝืด มันจะรู้สึกขัด 


โยม –  เมื่อก่อนเป็นค่ะ ตีค่าตีความหมาย แต่เดี๋ยวนี้มันก็เริ่มกลางๆ

พระอาจารย์ –  มันจะเริ่มน้อยลง ...ต่อไปนี่แม้แต่ว่าจะนั่งจะทำ จะกำหนดจิต มันจะทำไม่ได้เลยๆ ...แล้วตอนนี้อย่าสงสัย อย่าคิดว่าเราแย่ลง อย่าคิดว่าเราขี้เกียจขึ้น หรือคิดว่าไม่เหมือนคนอื่นนะ

มันเป็นเรื่องของจิตที่มันไม่ยอมรับการกระทำในตัวของมันเอง ...มันจะเริ่มเห็นว่า การกระทำนั่นแหละเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์ มโนกรรม วจีกรรมและกายกรรม คือการเบียดเบียนตนในระดับหนึ่ง

การกระทำนี่ จริงๆ แล้ว แม้แต่เป็นเรื่องของการตามความเชื่อความเห็นในจิต และเชื่อความเห็นในจิต แล้วมีการกำหนดอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ...เราเรียกว่าเป็นการเบียดเบียนตนแล้ว

จิตมันจะเกิดปัญญาขึ้นมา มันจะเข้าใจและยอมรับโดยที่ว่าไม่กระทำ ...คือการหยุดการเบียดเบียนแม้กระทั่งตน ด้วยความคิดหรือว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้

พอเริ่มมีอาการอย่างนั้นที่ว่าให้เข้าไปกระทำปุ๊บ มันจะหยุดทันที ...มันจะรู้สึกว่าไม่ทำเลย กลับมาอยู่เปล่าๆ กลับมาอยู่เฉยๆ


(ต่อแทร็ก 1/35  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น