วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/35 (4)


พระอาจารย์
1/35 (25530526E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/35  ช่วง 3

โยม –  ครูบาอาจารย์สมัยก่อนตอนที่ไม่เรียนอภิธรรมหรืออ่านหนังสือ บางองค์ที่ท่านมารู้โสดาบัน...เป็นพระอริยะเจ้าได้ด้วยจิตดวงเดียวเท่านั้น กับการที่หลวงพ่อบอกว่าไม่ต้องยึดว่าอันนี้มันคืออะไร จิตเป็นเอกเท่านั้น  

พระอาจารย์ –  แม่น้ำร้อยสาย ฝนทุกเม็ดที่ตกมาบนโลกนี้ สุดท้ายมาลงมหาสมุทร ...ไม่ว่าจะทำมาแบบไหน วิธีการไหน อุบายไหน กำหนดอย่างไร ปฏิปทาในจิตอย่างไร

สุดท้ายต้องเห็นเหมือนกัน กลับมาลงร่องเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเจโตวิมุติ เจโตกึ่งปัญญาวิมุติ หรือปัญญาวิมุติ ...วิธีการเดินเข้าสู่ร่องนี้ ที่เราพูดนี่ มีร้อยแปดวิธี หลากหลายวิธี ที่จะเข้ามาสู่ร่องนี้

แต่ถ้ายังไม่ถึงร่องนี้ คนที่ยังไม่ถึงร่องนี้ แล้วเอาคำพูด วิธีที่กำลังเดินทางนี้มาพูด ตรงนี้คือความขัดแย้ง แต่ครูบาอาจารย์ที่ถึงอริยมรรคอริยผลจริงๆ ท่านจะเห็นเป็นหนึ่งเดียวกันหมด

นี่ จะไม่มีปัญหาอะไรเลยๆ ...เราไม่ได้ว่าใครนะ เราไม่ได้ว่าคนใดคนหนึ่งนะ ...ถ้ายังเห็นว่าขัดแย้งอยู่ ให้รู้เลยว่าอันนั้นเป็นทิฏฐิหรือมานะที่เกิดจากความเห็น

ถ้าคิดว่าใช่หรือไม่ใช่ ถ้าคิดว่าถูกหรือผิด ให้รู้ว่า เราบอกให้เลยว่า เป็นอวิชชาปัจจยาสังขารา

จะละเอียด จะฟังดูดี จะน่าเลื่อมใส จะประณีต โดยภายในและภายนอกคำพูดก็ตาม ...เราบอกว่าเป็นอวิชชาปัจจยาสังขารา

สัมมาทิฏฐิที่แท้จริง สัมมาทิฏฐิสูงสุดในอริยมรรคขั้นสูงสุด ...คือไม่มีความเห็น ไม่มีคอมเมนต์...No comment.

โยมมองดูสิ ตาเห็นรูปมั้ย รอบตัวเลยนี่ ต้นไม้ ...โยมไม่สุขไม่ทุกข์เลยนะ เพราะโยมไม่มีการให้ค่า โยมไม่เคยไปตำหนิมันว่าสูงหรือต่ำ

แต่ถ้าไปจดจ่ออยู่แล้วไปพิจารณาว่ามันสูงหรือต่ำ โยมเริ่มมีความเห็นแล้ว ...เห็นมั้ย ทุกข์เกิดแล้วนะ ความถูกผิดเกิดแล้วนะ 

แต่ถ้าโยมมองเห็นอยู่ แล้วมันก็ตั้งอยู่ โยมจะไม่รู้สึกอะไรเลย ...เพราะโยมไม่ไปให้ความเห็นอะไรกับมัน โยมอยู่ด้วยจิตที่เป็นกลางกับทุกสรรพสิ่งโดยไม่มีความเห็น


โยม –  มันไปคิดไปโน่น ไปนี่ ไปนั่นเรื่อยเลย

พระอาจารย์ –  ท่านก็บอกว่าตัดป่าให้หมดสามทาง กามภพ รูปภพ อรูปภพ...แตะเมื่อไหร่เป็นเรื่อง


โยม –  แสดงว่าเรายึดหลักทำไปรู้ไปในปัจจุบัน ไม่ว่าสภาวะอะไรที่เกิดขึ้น จิตมันจะจำ ปัญญาจะสร้างความเข้าใจของเขาเอง ...แต่ถ้าครั้งนึงเกิดลังเลสงสัยขึ้นมา นั่นหมายความว่าผิดทางไปรึเปล่า 

พระอาจารย์ –  ไม่ผิดทาง


โยม –  มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นปกติ 

พระอาจารย์ –  เป็นปกติยันพระอรหันต์ บอกให้ ความสงสัยในธรรม มีไปถึงพระอรหันต์ ...ท่านเรียกว่าอุทธัจจะ ลังเลในธรรม ...ใช่หรือไม่ใช่ ชัดหรือไม่ชัด ช้าหรือเร็ว ขวางรึเปล่า นี่ มียันพระอรหันต์

แต่วิจิกิจฉาเบื้องต้นที่ละได้ หรือละขาดคือเห็นว่าไม่มีวิธีอื่นนอกจากนี้ที่เข้าสู่อริยมรรค...ณ ที่นี้ ...ทำ-ไม่ทำอะไรไม่รู้  ถ้าอยู่ตรง "นี้" ไม่ออกนอก "นี้" ไป ...แล้วมันมีความยอมรับโดยใจ

ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร ใครบอกว่าอย่างนั้น ใครบอกว่าต้องอย่างนี้ ใครบอกว่าอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ได้อะไร แล้วยังไขว้เขวลังเลสงสัย อย่างนั้นเขาเรียกว่ายังละวิจิกิจฉาตัวนี้ไม่ได้

แต่ว่าเบื้องต้นถ้าละได้ปุ๊บนี่ จะไม่หวั่นไหวไปตามคำพูดหรือความเห็นใดเลย นี่เรียกว่าละวิจิกิจฉาได้ขาดเลยในการปฏิบัติ 

แต่ไม่ขาด คือดูไปดูมามันเริ่มไม่ชัดแล้ว เริ่มออกไป หรือเริ่มลังเล มีวิตกเกิดขึ้นนิดๆ หน่อยๆ ...อันนี้เป็นอุทธัจจะในธรรม แต่ก็ยังไม่ออกนอกหลักของการอยู่ตรงนี้เลย เข้าใจมั้ย อย่างนี้ต่างหาก

เพราะนั้นอย่าไปสงสัย พอสงสัยไม่ว่าขั้นใดขั้นหนึ่ง ภูมิใดภูมิหนึ่ง จิตใดดวงหนึ่ง ...พอรู้ว่าสงสัย ก็ไม่สงสัย ...พอรู้ว่าสงสัย ก็จงกลับมาโง่ต่อ ตรงนี้แหละ อยู่ตรงนี้แหละ ไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น

ไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่ได้กูก็ไม่ทำ ไม่รู้ก็ไม่รู้โว้ย จะอยู่อย่างนี้ โง่เข้าไป  แล้วมันก็จะบอกว่า นี้ไปไม่รอดนะ ติดข้องนะ...กูไม่สน ไม่เอา แค่นั้นเอง สุดท้ายจนเหลือแต่จิตล้วนๆ หนึ่งจริงๆ

พอเหลือหนึ่งจริงๆ แล้วนี่ เหมือนโยมนี่ตั้งเข็มไว้ เอาปลายเข็มขึ้นนี่นะ โยมตั้งไว้นะ เราโยนเม็ดงาไปกระสอบนึง แล้วเอาปลายเข้มนี่ตั้งรับ ถามว่ารับเม็ดงานี่สักเม็ดได้มั้ย

ต้องหมดจดถึงขนาดนั้น ไม่มีความเห็นใดความเห็นหนึ่งตั้งอยู่ได้ ...นี่ ขนาดนี้ยังไม่จบนะ นี่ยังไม่จบเลยนะ ...เพราะนั้นไปสาอะไรกับที่ว่าถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ ช้าหรือเร็ว บอกให้เลย

แม้แต่เมล็ดงาทั้งกระสอบโยนมา ยังรับตั้งอยู่บนเข็มไม่ได้เลย นั่นแหละคือความหมดจดเบื้องต้น ...ตรงนั้นถึงขั้นที่จะเรียกว่าขั้นประหารนะ ไม่ใช่ว่าละเลิกด้วยความเข้าใจ หรือว่าปัจจัตตัง ยังไม่พอ ยังไม่ขาด

แม้แต่พระอริยะเบื้องต้นขึ้นมานี่ ยังไม่ขาดเลย ยังไม่เรียกว่าประหารโดยสิ้นเชิงเลย ...จะไปเห็นการละการเลิก การตัดจริงๆ นี่ หรือการออกขาดจากอารมณ์จริงๆ นี่ ในขั้นของพระอนาคาทั้งสิ้น

ถึงจะเหลือกายเดียวจิตเดียว เอกังจิตตัง เอโกธัมโม เอโกปุริโส ชายคนเดียวหญิงคนเดียว ไม่เกาะเกี่ยวแล้ว หรือภาษาท่านก็เรียกว่าอนาคาริก...อนาคามี แปลจากความหมายของคำว่าอนาคาริก

อนาคาริก หรือคนไม่มีบ้าน คืออนาคาริก ผู้ไม่มีบ้าน...ผู้ไม่มีบ้านในความหมายของจิตคือผู้ไม่มีภพ ไม่มีภพที่อยู่ คือไม่หาบ้านอยู่น่ะ  มันมีบ้านอยู่บ้านเดียว ไม่หาใหม่แล้ว

แต่ว่าบ้านของท่านน่ะก็คือเข็ม ที่อะไรตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ...คือไม่หาใหม่ ไม่มีอะไรมาสอดแทรกได้แล้ว นั่นน่ะคือผู้มีภพเดียวและไม่สร้างบ้านใหม่ ...ขนาดนี้ยังไม่จบเลย

ส่วนพระอรหันต์นั่นก็หมายความว่า ไม่มีคำพูด เหมือนนกบินไปในอากาศ ไม่มีร่องรอย มาเหมือนไม่มา ไปเหมือนไม่ไป อยู่ก็เหมือนไม่อยู่ ไม่อยู่ก็เหมือนอยู่

อันนี้เรียกว่าไปแบบไร้รูปไร้นาม อยู่ก็อยู่แบบไร้รูปไร้นาม ...เออ มันอยู่ยังไงวะ (หัวเราะ) อยู่แบบไม่มีที่ตั้ง แต่มันก็อยู่ได้ ...พูดให้ฟัง อย่าคิดมาก

เพราะนั้นเบื้องต้นของพวกเราคือให้เท่าทัน อย่าคิดมาก ทุกอย่าง...อย่าปรุงต่อ อย่าหาถูก อย่าเอาผิด ...ถ้าหาถูกก็จะได้ผิด ถ้าคิดว่าผิดเดี๋ยวก็ต้องได้ถูก มันจะมีให้เลือกทั้งสองอย่างนั่นแหละ

ถ้าเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าคิดว่าเอาแต่ถูกแล้วจะไม่มีผิดนะ ถ้าบอกว่าถูก มันก็มีผิดเกิดขึ้นแล้ว บอกให้เลย ...แต่ถ้าไม่เอาเลย ยังไงก็ช่างหัวมันเถอะ ถูกผิดก็ละไปเรื่อยๆ

ความให้ค่าตามบัญญัติสมมุตินี่ก็จะน้อยลงๆ ...แล้วก็ทำไปเถอะ จะพูดอะไรก็พูดไปเถอะ จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ อย่างมากก็โดนเขาตีหัว อย่างมากก็โดนด่า...จบไป

ไม่เอาถูกผิดอะไรเป็นมาตรฐานมาก แล้วก็เรียนรู้กับปัจจุบัน หรืออาการขณะนั้นที่รับรู้ไปเรื่อยๆ ...มันจะเกิดหิริและโอตตัปปะในตัวของมันเอง ไม่ได้เกิดเพราะว่าตัวเราคอยบอกว่านี่ถูกนั่นผิดนะ

หิริโอตตัปปะมันจะเกิดจากการที่เราเรียนรู้กับการที่เขามาตีเราแล้วเราชกกลับ มาตีอีกเราชกอีก เราไม่รู้ว่าถูกเราไม่รู้ว่าผิด แต่มันจะจำเอง ทำไปกูก็โดนชกน่ะ ...มันเกรงกลัวบาปเอง มันเกรงกลัวในการกระทำนี้เอง

นี่คือจิตเขาเรียนรู้อย่างนี้ ตามอาการจริงนะ ...ไม่ได้บอกว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิดนะ หรือว่าพูดว่า ค่ะ จ้ะ ครับ ไม่มีปัญหาก็ได้ ครับผมๆ แล้วเขาสบายใจ ...มันก็รู้เองว่านี่ ทำอย่างนี้แล้วดี

ศีลมันไม่ได้ว่าถูกหรือผิด...แต่มันรู้อย่างนี้ ...ถ้ามีสติอยู่นี่ มันจะคัดเองว่ากายกริยาวาจาไหนควรหรือไม่ควรแก่งานนั้นๆ หรือสังคมนั้นๆ

เวลาโยมกับผู้หญิงนี่ ใส่เข้าไปเถอะ ผู้ชายเดินมาปั๊บนี่ คำพูดจะเปลี่ยนเลย เข้าใจมั้ย มันจะเปลี่ยนไปเองเลย มันจะเกิดความพอดีขึ้นในอีกแบบหนึ่งแล้ว

มันจะรู้ว่าถ้าพูดอย่างนี้แล้วจะมีเรื่อง พูดอย่างนี้แล้วจะโดนด่า พูดอย่างนี้แล้วจะมีปัญหา เห็นมั้ย มันก็จะปรับ ...นี่ เห็นมั้ย หิริและโอตตัปปะ คือเกิดด้วยสติและสัมปชัญญะ

ไม่ใช่มาคอยว่า ชั้นจะทำอย่างนี้ดีมั้ย ชั้นไม่ทำอย่างนี้ดีกว่ามั้ย ...ไม่ได้เอาบัญญัติหรือสมมุติมาเป็นตัวมาตรฐาน หรือเอาเป็นข้อ เป็นวรรคเป็นตอนมาเป็นตัวกฎเกณฑ์คอยกำหนด

นี่ วันนี้ถามเรื่องเหตุปัจจัย ก็พูดไปตามเหตุปัจจัย คืออย่างนี้ เพราะนั้นมันไม่แน่ไม่นอน ไม่ตายตัว สมาธิ ศีลสมาธิปัญญานี่คล่องแคล่วว่องไวไหวพริบ ไม่ใช่ทื่อๆ บื้อๆ

เราว่าไม่รู้อะไรนี่ แต่มันคล่องไปหมดแหละ อยู่ได้ในทุกที่ทุกสถาน ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ...อย่างมากก็เจ็บ แล้วก็เอาบทที่เจ็บนั่นแหละมาเรียนรู้ เพื่อครั้งต่อไป

เราไม่บอกถูก เราไม่บอกผิด แต่ทุกข์เท่านั้นที่จะสอนจิต ทุกข์เท่านั้นที่จะให้เกิดปัญญา ...สุขไม่เกิดหรอก สุขไม่เคยสอน อย่าเอาดี-ไม่ดี...ไม่เอา ยังไงก็ทุกข์

ทุกลมหายใจแหละ มันอยู่กับทุกข์ กายนี้เป็นทุกข์ รู้ว่ากายนั่งอยู่ รู้ว่าจิตเป็นยังไงหรือไม่เป็นยังไง ชื่อก็บอกว่ากาย ชื่อเรียกว่าจิต ...แต่เราชื่ออีกชื่อหนึ่งว่านี่คือทุกข์

ถ้าเอาชื่อกายออกกำหนดจิตออกนี่ คือเราบอกว่าไว้เลยว่านี่คือกำหนดทุกข์ ...คือตัวกายนี่แหละ ตัวความหมายที่แท้จริงของกายนี่คือทุกข์

เพราะนั้นการที่เรารู้กายรู้จิตนี่ คือการกำหนดทุกข์อยู่ในตัว รู้ทุกข์คือตรงกับอริยสัจข้อไหน กิจที่พึงกระทำต่ออริยสัจ...เบื้องต้นคือรู้ทุกข์ เนี่ย คือกายกับจิตนี่

ถ้าเปลี่ยนชื่อกายกับชื่อจิตออกนี่ ชื่อจริงไม่ใช่นามแฝงมันก็คือทุกข์ นี่ล่ะทุกข์ ...บางคนก็มาถามว่ารู้ทุกข์กำหนดทุกข์ ก็ไม่เห็นมันทุกข์เลย ...ก็มึงดูอยู่นี่ ไอ้นี่แหละคือทุกข์ ...ไม่ใช่ดูกายนะนี่ นี่คือดูทุกข์อยู่ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นไม่ใช่ทุกข์ในความหมายที่ว่าเจ็บปวดรวดร้าว เวทนาอะไร อาการของมันนี่แหละคืออาการทุกข์ ...กายนี่คืออาการทุกข์ จิตนี่คืออาการทุกข์


...................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น