วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/34 (2)


พระอาจารย์
1/34 (25530526D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/34  ช่วง 1

โยม –  เท่าทันกับอวิชชาที่เริ่มต้น

พระอาจารย์ –  การเกิดขึ้น จิตเริ่มต้นคือการเกิดขึ้น ...ตรงนั้นแหละที่จะเป็นจุดก่อเกิด ให้เกิดความต่อเนื่องไม่รู้จักจบ ...อย่างน้อยให้ทัน

เพราะนั้นสติเนี่ย หน้าที่ของสติจริงๆ คือให้เท่าทัน ...เพื่อไม่ให้มันไหล ยืดยาว เยิ่นเย้อ ไปข้างหน้า ไปข้างหลัง ...ตรงนี้ไม่อยู่ มันอยู่ตรงโน้น อยู่ตรงนู้น อยู่นู้นนนน ...“นี้” ไม่อยู่

เพราะนั้น อย่างน้อย “สติ” เพื่อให้กลับมาเห็นตรงนี้  ณ ที่นี้ ...นึกสิ นึกว่า “นี้” นี้ๆๆๆ อยู่ตรงนี้ ...อยู่ตรงที่ว่า “นี้” นั่นแหละ เข้าใจมั้ย 

กายก็กายตรงนี้ ...ไม่ใช่กายที่บ้าน ไม่ใช่กายปีหน้า หรือชาติหน้า ...กายก็กายนี้ เข้าใจมั้ย ต้องอยู่ตรงนี้ สติให้กลับมาอยู่ตรงนี้ บ่อยๆ จนเป็นอาจิณน่ะ

ออกนอก “นี้” ไป...ไม่เอา  อยากได้อะไร...ก็ไม่เอา ...กลับมาอยู่ตรงนี้ ตรงที่ไม่มีอะไรนี่  ตรงที่ไม่มี ไม่เป็น ไม่ได้อะไร โง่ๆ เซ่อๆ ไม่รู้อะไรเลยนี่แหละ

แค่มันอยู่ตรงนี้...พอแล้ว ต้องรู้จักพอๆ ... มันจะเอา...ไม่เอา จะมี..ไม่เอา จะเป็น...ไม่เป็น ...ไม่เอา ไม่มี ไม่เป็นนอกจาก “นี้” ...เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น

โง่ๆ นี่แหละ ตรงนี้ ...ตรงนี้คือจุดเริ่มต้น แล้วก็ตรงนี้คือจุดสิ้นสุด คือมันอยู่ในที่นี้แหละ ...ไม่ใช่ไปสิ้นสุดที่ความคิด ไม่ใช่ไปสิ้นสุดข้างหน้า ไม่ใช่ไปสิ้นสุดในชาติหน้า

ไม่ไปสิ้นสุดเพราะอารมณ์นั้นเกิด เพราะอารมณ์นี้ดับ ...แต่มันสิ้นสุดตรงนี้ ...เกิดก็ตรงนี้ ดับก็ต้องตรงนี้ ไม่ไปดับที่อื่นเลยนะ...ไม่ดับที่อื่นเลย

ถ้าอยู่ตรงนี้ได้โดยไม่ไปไหน...โดยธรรมชาติของสติสัมปชัญญะที่กลับมาอยู่ที่กายอันเดียวจิตอันเดียว ไม่เป็นสอง ...ถ้าอยู่ตรงนี้ไม่มีสอง กายเป็นหนึ่ง จิตเป็นหนึ่ง

ตรงนี้ถึงเรียกว่า เอกังจิตตัง เอโกธัมโม เอโกปุริโส เป็นจิตดวงเดียว เป็นธรรมดวงเดียว ...ตรงนี้ถึงจะเรียกว่าธรรมเอก ตรงนี้ถึงจะเรียกว่าทางสายเอก

ได้ยินคำว่า “เอก” มั้ย เอกนะ ไม่ใช่โทนะ ไม่ใช่ตรีนะ ไม่ใช่อินฟินิตี้นะ ...เอกแปลว่าหนึ่ง กายหนึ่งจิตหนึ่ง ...มันจะเป็นสองตอนไหนล่ะ หา มันจะเป็นสองตอนไหน

เมื่อมันออกนอกหนึ่ง ออกนอก "นี้" ไป ...ถ้าออกนอกนี้ไปเมื่อไหร่แปลว่า จิตมีการแบ่งแยก จิตมีความแตกต่าง

เมื่อมีความแตกต่าง มันจะเกิดอาการเปรียบเทียบ  แล้วจะเกิดการตัดสิน เลือกหรือไม่เลือก ...ตอนนั้นเรียกว่าขันธ์เริ่มปรุงแต่งแล้ว เป็นอุปาทานแล้ว

แต่ถ้าอยู่ตรงนี้ ทุกอย่างจบหมด นะ นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วก็รู้อยู่ตรงนี้ ไม่มีอะไรเลยนะ ดูสิ ...อาชีพก็ไม่มี ผัวก็ไม่มี บ้านก็ไม่มี รถก็ไม่มี ไม่มีแม้กระทั่งตัวเรา

บอกให้เลย ไอ้อาการที่คิดว่ามี มันเป็นแค่คิดไปเองว่ามี ยังมีอยู่  มันเป็นแค่ความเห็นหนึ่งที่แยกออกไป ...แต่ถ้ากลับมาตรงนี้ ทุกอย่างจบหมดเลย ไม่มีอะไร เห็นมั้ย สังเกตง่ายๆ

แต่พวกเราไม่สามารถหรอก อันนี้พูดให้ฟังแล้วจิตสามารถน้อมได้ขณะหนึ่งแค่นั้นเอง มันไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา ...อันนี้ต้องอาศัยสติและสัมปชัญญะดึงกลับมาตรงนี้

อยู่ตรงนี้ ไม่ออกนอกนี้ ...พอเริ่มจะหา เริ่มจะค้น มันไหลออกไปแล้ว ไปข้างหน้าแล้ว ไปอดีตบ้าง ไปถึงคนนั้นคนนี้ ไปถึงอาจารย์ ไปถึงคำสอนอันนั้นอันนี้ ...ออกแล้วนะ ออกหมดแล้วนะ

ถ้ากลับมาตรงนี้ ตัดอกตัดใจซะบ้าง โง่ซะบ้าง ไม่รู้อะไรซะบ้าง ไม่ได้อะไรซะบ้าง กลับมาไม่รู้อะไร ไม่เป็นอะไร ไม่ได้อะไร ไม่มีอะไร...อยู่ตรงนี้

แล้วจิตมันจะเริ่มเบา จิตจะคลายตรงนี้ ณ ที่ตรงนี้...ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรนี่แหละ ทั้งที่ว่าไม่ได้อะไรนี่แหละ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรด้วยซ้ำ

เพราะนั้นการปฏิบัติจริงๆ จึงไม่ได้ขึ้นกับ “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” ...แต่ขึ้นกับว่า สัมมาทิฏฐิจะเห็นจริงตรงนี้ไหมล่ะ แล้วยอมรับมันไหมล่ะ

มันจะไม่ยอมรับต่อเมื่อมีความคิดเกิดขึ้น แล้วก็แทรกแซง แล้วก็สร้างความเห็นใหม่ขึ้นมาว่า อย่างนี้น่าจะดีกว่าอย่างนี้  ถ้าเราทำอย่างนี้ น่าจะได้อะไรมากกว่าตรงนี้

ถ้าเราไม่ทำอะไรตรงนั้น เราก็น่าจะดีกว่าตรงนี้  ถ้าเรานั่งนานๆ มันน่าจะดีกว่านี้  ถ้าได้อารมณ์ตรงนี้มากๆ แล้วเราจะได้เร็วกว่าตรงนี้ ...มันก็ว่าไปเรื่อยๆ 

แต่ตรง “นี้” มันไม่มีเวลานะ ...“นี้” ไม่มีเวลาเลยนะ  “นี้” ไม่มียาวนะ “นี้” ไม่มีสั้นเลยนะ ...ตรง “นี้” ไม่มีว่าเร็ว ไม่มีว่าช้า เห็นมั้ย

เอาแค่ง่ายๆ ถ้าโดยจินตามยปัญญา ประกอบกับที่เห็นในขณะนี้นิดๆ หน่อยๆ  เราจะไปเข้าใจความหมายของคำว่า "อกาลิโก" มั้ย

ธรรมนี้ที่พระพุทธเจ้าท่านท้าให้พิสูจน์นี่ เป็นอกาลิโก...ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่ ไม่มีบุคคล ใช่ไหม เป็นธรรมเดียวกับที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เข้าใจให้เห็นมั้ย

แล้วเรากำลังหาอะไรอยู่ แล้วเรากำลังอยากได้อะไรอยู่ แล้วเรากำลังอยากเป็นขั้นไหนล่ะ ...อยากเป็นโสดาไหม อยากเป็นอรหันต์ไหม

ถ้าอยู่ตรงนี้มันไม่เห็นเลยว่าอะไรคือโสดา อะไรคืออรหันต์ มีแค่ “นี้” แล้วก็จบอยู่ตรง “นี้” ...เราไม่รู้หรอกอะไร เราไม่รู้ว่าเรียกอะไร เราไม่รู้หรอกว่าดี เราไม่รู้หรอกว่าไม่ดี

ตัวเขาเองน่ะ...ความเป็นจริงคือความพอดีตรงนี้แหละ จะจบได้ต้องกลับมาจบที่ “นี้” นะ ...แล้วทุกอย่างคลายออก ละออก...ด้วย ปัจจุปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ

ปัจจุปันนัญจะ โย ธัมมัง ธรรมทั้งหลายทั้งปวง รวมลงที่ตรงในปัจจุบัน ตัตถะ ตัตถะ...ณ ที่นี้เท่านั้น ด้วยวิปัสสติ ด้วยสติที่ตั้งลงตรงนี้เท่านั้น

ไปอ่านดู นี่คือ อตีตัง นานักขะเนยยะ ปัจจุปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ ...สวดอยู่ทุกวัน แต่ก็หากันอยู่ทุกวัน หาทำไปเรื่อย

แต่ละคนก็จะมาบอกอุบาย คนนั้นก็บอกว่าชั้นทำอย่างนี้ หนูทำอย่างนี้แล้วได้อย่างนี้ พี่ลองดูสิ เธอลองดูสิ ...เห็นมั้ย พอกำหนดอะไรปุ๊บ มันจะมีผลหลากหลาย ซึ่งมันแตกต่างกันแล้ว

แต่ถ้ากลับมาตรงนี้ ไม่แตกต่างนะ จะไม่แตกต่างกันเลยนะ จะไม่มีคำแบ่งแยก ...แม้แต่ภาษายังไม่มีคำพูดอะไรไปใส่มัน อะไรใส่ไปตรงนี้หายหมดแหละ บอกให้เลย มันแปลความไม่ได้เลย

เพราะนั้นมันจึงเป็นหนึ่งเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเส้นไหน ทางไหน ทำมาอย่างไร ได้อะไรมา จะได้มากได้น้อย ได้หยาบได้ละเอียด ได้กลาง ได้ประณีต

อะไรก็ตาม ลงตรงนี้ปุ๊บ ดับหมด บอกให้เลย ไม่มีอะไรเหลือตั้งอยู่ได้บน "ที่นี้" เลย ...ตรงนี้ต่างหากคือหัวใจ คือหลัก...คือหลักที่แท้จริง

นี่คือหลักที่แท้จริง ไม่ใช่ทำอะไรเป็นหลัก หรือว่าต้องกำหนดอะไรเป็นหลัก หรือว่าต้องวางจิตยังไงเป็นหลัก ...เพราะทุกอย่างที่รู้ก็เพื่อให้เห็นตรง "นี้"

นี่กลับมา...ดับแล้ว มันก็ดับอยู่ตรงนี้แหละ แค่นั้นเอง เวลาเกิดมันก็เกิดจากตรงนี้แหละ ...แต่ว่าเราจะให้ค่ามันต่อเนื่องขนาดไหน คือต่อความยืดยาวไปขนาดไหน

สติเท่านั้นจึงจะเกิดความเท่าทัน เมื่อเราเท่าทันมันจะเริ่มสั้นลง เมื่อเริ่มสั้นลงแล้วมันจะเหลือเพียงแค่จุด เมื่อเหลือแค่จุดก็เหลือแค่ต่อม เมื่อเหลือเป็นแค่ต่อม

มันเป็นแค่อาการไหวๆ ขยับๆ กึ๊กๆ กั้กๆ อยู่ตรงนี้ พั้บๆๆๆ ...นอกนั้นไปเห็นเป็นเหมือนหมอกเงาลางๆ พอให้เดินแล้วไม่เหยียบหัวแม่ตีนคนแค่นั้นเอง เดี๋ยวถูกต่อย เดี๋ยวถูกด่า

เพราะนั้นการที่ขันธ์...คือใช้ขันธ์แค่ประคับประคองมันแค่นั้นเอง ไม่ได้ไปหมายมั่นจริงจัง เอาจริงเอาจังกับภายนอก หรือว่าเรื่องราว หรือว่าต้องได้อะไร

แต่มันจะเห็นเป็นแค่...ให้ค่าให้ความหมายแค่เมฆหมอกบางๆ แค่นั้นเอง ...ไม่ได้เอาสาระอะไร หรือว่าไปฝากผีฝากไข้ ฝากเป็นฝากตายอยู่กับการกระทำคำพูดหรืออากัปกริยาของคนภายนอก

หรืออากัปกริยาของเรา หรือของใครก็ตาม ..มันจะเห็นเป็นแค่อาการที่ว้อบๆ แว้บๆ  มีสาระเหมือนไม่มีสาระ ไม่ได้จริงจังอะไรกับมันมากมาย 

แต่ละจุดนี่จะเป็นหลัก ยืนอยู่ในหลักนี้เท่านั้นเอง  จิตมันจะอยู่ตรงนี้ได้มากขึ้นนานขึ้นตามกำลังของปัญญา ตามกำลังของญาณทัสสนะ ...แล้วมันก็จะเริ่มเป็นวิมุติทัสสนะมากขึ้น

เมื่อเป็นวิมุติทัสสนะปุ๊บ ไม่ต้องบอกมันหรอก มีอะไรมันกลับมาเลย อะไรออกไปปุ๊บ มันก็วิ่งกลับมาเลย ...อันนี้เขาเรียกว่าเป็นอริยมรรค

ไม่ได้เกิดจากความจงใจ ตั้งใจ หรือไปควบคุมแล้ว ...มันเป็นธรรมชาติที่มันจะเริ่มกลับสู่บ้านของมันเองแล้ว กลับสู่จุดตั้งต้น ความตั้งต้นของมันเอง กลับมาสู่จุดเริ่มแรกของการเกิด

เพราะว่าลึกๆ มันจะมีสัมมาทิฏฐิในจิต ในความเห็นนั้นๆ ว่า...จุดที่เกิดนั่นแหละคือจุดที่ดับ มันจะหยุดการไปดับที่อื่น หรือไปหาวิธีดับที่อื่น หรือไปหาวิธีดับด้วยการกระทำ

มันจะรู้เลยว่าแค่กลับมาตรงนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างดับหมด ...อันนี้เป็นสัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่มันจะมากขึ้น แข็งแกร่งมากขึ้น สุดท้ายท่านจะหยุดการกระทำทั้งหมดเลย โดยเจตนา หรือการตรึก หรือการปรารภ

เราพูดแค่ตรึกนะ เข้าใจมั้ย เราพูดแค่วิตก เราพูดว่าแค่ตรึก เราพูดว่าแค่ปรารภ เราไม่ได้พูดถึงความอยากเลยนะ ...ท่านหยุดแม้แต่อาการตรึก ปรารภ หรือวิตก

อาการพวกนี้ไม่ประกอบ แทบไม่ประกอบด้วยตัณหาเลยนะ ก่อนตัณหาอีก บอกให้เลย ...หยุดถึงที่สุดของท่านน่ะ จะหยุดอาการภายในถึงขนาดนั้น

เพราะนั้นเมื่อหยุดปุ๊บนี่ สังขาราจะเริ่มหมดกำลังลงไปทีละเล็กทีละน้อย ...ขนาดนั้นยังไม่สุดเลย บอกให้เลย ยังเหลืออวิชชาล้วนๆ ที่ไม่มีสังขารา ยังไม่จบเลย ..ก็ยังเป็นแค่อนาคาต๊อกต๋อยอยู่เลย

ไปถึงจุดที่ไม่รู้จะทำอะไรแล้วน่ะ จิตสุดที่ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ยังไม่จบเลย ...ไปก็ไม่ถูก มาก็ไม่ถูก อยู่ก็ไม่ได้ ไปก็ไม่ได้ ...แต่มันก็รู้อยู่ มันยังไม่ได้น่ะ อย่างงั้นแหละ

ไอ้พวกเรานี่ แค่ความอยากยังไม่ทันเลย หรือความไม่อยากยังไม่เห็นเลย มันทำไปด้วยอะไรไม่รู้เลย ...เห็นมั้ยว่าปัจจยาการมันอยู่ขั้นตอนไหน

รู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาพยากรณ์หรอก รู้เอง ศึกษาเอาเอง ...แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยเห็นในการที่ก่อนเกิดความอยากหรือไม่เกิดความอยาก

ก็เห็นอยู่ แต่ว่าไม่ค่อยบ่อย ...ส่วนมากนี่มันไปเห็นตอนอยากแล้ว แล้วก็ทำจนเสร็จ...แล้วถึงค่อยเห็นว่านี่เราทำไปตามความอยาก


(ต่อแทร็ก 1/35)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น