วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/35 (3)


พระอาจารย์
1/35 (25530526E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/35  ช่วง 2 

โยม –  แล้วชีวิตประจำวันเราก็เจริญสติด้วย  

พระอาจารย์ –  ก็ทำไปพร้อมกัน นะ เพราะพระพุทธเจ้าท่านพูดไว้หมด อย่าประมาทในบุญ ...แล้วโยมจะรู้มั้ยล่ะว่าชาติหน้าโยมไม่มาเกิดแล้ว

ถ้าโยมมีความรู้ปัจจัตตังจำเพาะจิตนี้ โยมก็ไม่ทำบุญแล้ว ไม่ต้องอาศัยบุญแล้วว่าเป็นที่พึ่งแล้ว แต่ตอนนี้คติที่ไปของโยมยังไม่แน่นอน ก็ทำไปเถอะ อานิสงส์มันมีอยู่ 

เอาไว้เป็นเสบียงกรังต่อไปในภายภาคหน้า ไม่ต้องมานั่งลำบาก ...เพราะไอ้คนที่เกิดมาลำบากนี่ มันจะมีใจที่ไปทำภาวนาบ้างมั้ย คนที่ต้องดิ้นรนหากินไปวันๆ ยังแทบไม่รอดนี่ มันจะมีกำลังแบ่งภารกิจ มีใจกับการภาวนามั้ย

นั่น บุญก็ยังถือว่าเป็นเครื่องสนับสนุน ...เกิดมามีรถมีบ้านช่อง มีการงานหน้าที่  มีอะไรที่พอไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจมาก ...นี่คือเราอยู่ด้วยบุญ เป็นอานิสงส์อยู่นะ บุญจึงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกอยู่

แต่เมื่อมีปัญญาปุ๊บ เราก็ทำ ไม่ทิ้ง แต่ไม่ใส่เจตนาความอยากหรือไม่อยากจนเกินไป ...คือรู้จัก ทำเป็นแล้ว ทำเป็นแล้ว ทำแล้วไม่ติด ทำบุญแต่ไม่ติดบุญแล้ว มันก็ได้อานิสงส์ด้วย

แล้วถ้าเราทำบุญโดยที่ไม่ติดบุญ นะ ทำแล้วไม่ติดว่าจะได้อะไร ใครจะใช้ ใครจะไม่ได้ใช้ หรือเราจะได้อะไร ไม่ได้อะไร ...อานิสงส์แห่งบุญนั้น จะเป็นปรมัตถบารมี หรือเป็นปรมัตถ์ทานขั้นสูงสุด 

สูงสุดในแง่ไหน ...คือไม่ต้องไปรอรับผลข้างหน้า ส่งผลในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ เป็นปรมัตถจิต

เพราะนั้นเวลาทำ...ก็ทำ ...เราไม่ปฏิเสธการทำบุญ ก็ทำไป แล้วไม่ต้องปรุงแต่ง ...คือถ้ามีปัญญามากขึ้นแล้ว ทำแล้วทำเลย จบแล้วจบเลย

ใครจะใช้ ใครจะไม่ได้ใช้ กูจะได้รับผลบุญยังไง มีความสุขหรือไม่มีความสุข ไม่มีการต่อด้วย ...จะรับผลในปัจจุบันขณะนั้น คือจิตจะปล่อยทันที รวมลงสงเคราะห์เป็นปรมัตถ์   


โยม –  แล้วถ้าอย่างที่คิดต่อไปอีกว่า คนบางคนที่เขาสร้างโบสถ์สร้างวิหารที่สวยงามเป็นร้อยๆ ล้าน แล้วก็ปล่อยให้สกปรก นี่มีอกุศลตรงนั้น บาปเลยไหมเจ้าคะ    

พระอาจารย์ –  ก็บาปก็อยู่ตรงนั้นแหละ อยู่ที่การคิดไม่ดี


โยม –  เราคิดไม่ดีจริงๆ   

พระอาจารย์ –  บาปที่เรานั่นแหละ ไม่ได้อยู่ที่คนทำ


โยม –  แล้วอย่างนี้ เห็นอีกคิดอีก นี่ก็บาปไปเรื่อย

พระอาจารย์ –  ก็เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น ถ้าเห็นน่ะมันเป็นขณะนั้น ไม่เป็นไร ทิ้งไป คิดใหม่ก็รู้อีก ห้ามไม่ได้ ...ห้ามได้รึเปล่า


โยม –  ไม่ได้   

พระอาจารย์ –  ไม่ได้แล้วจะไปคิดให้มันทำไมล่ะ อย่าไปคิดควบคุมมัน อย่าไปคิดดับมัน มันไม่ดับหรอก เอาจนอย่างนี้...คือมันขึ้นมาก็กลายเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี

มันขึ้นมาก็ได้ ไม่ขึ้นก็ได้ ขึ้นมาก็ไม่มียินดี ไม่มียินร้าย ...แต่ถ้ายังขึ้นแล้วยังยินร้าย แปลว่าเรายังให้ค่าอยู่ ...ดูเข้าไปจนกว่าว่า “เรื่องของมึง”


โยม –  ตอนนี้ก็เริ่ม “เรื่องของมึง” หน่อยๆ แล้วค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ จนเห็นเหมือนอากาศน่ะ ความคิดก็เป็นแค่สักแต่ว่า


โยม –  แล้วเราก็ไม่ได้ไปทำตรงนั้น ถ้าว่าสกปรกก็ขึ้นไปทำความสะอาด 

พระอาจารย์ –  ก็แค่นั้น ใครจะทำ ใครจะไม่ทำ บุญบาปอยู่ที่ความเจตนาของคนนั้นๆ

จนสุดท้ายบอกแล้วว่า พอเห็นอาการที่ปัญญามันมากขึ้น จิตสักแต่ว่าจิต ธรรมสักแต่ว่าธรรม กายสักแต่ว่ากาย เวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ร้าย

จะมาก็ได้ จะมากก็ได้ จะตั้งอยู่นานก็ได้ จะตั้งซ้ำซากๆๆ ก็เป็นสักแต่ว่าอาการเท่านั้น ไม่พาเราขึ้นไม่พาเราลงด้วยอาการยินดีหรือยินร้าย

แต่ถ้าเรายังยินดียินร้ายก็ให้รู้ให้ทัน ...หงุดหงิดกับมันอีกแล้ว หงุดหงิดกับความคิดเช่นนี้อีกแล้ว หงุดหงิดกับความเห็นอีกแล้ว ...มันห้ามไม่ได้

แต่ให้ทันความหงุดหงิด ความรำคาญ ความไม่พอใจ  พอมันมีความไม่พอใจแล้วมันมีความทะยานอยากจะไปทำอะไรกับมันสักหน่อย ...เห็นมั้ย ปัจจยาการมันจะต่อเนื่องออกมาเลย

เพราะนั้น สติเท่านั้นจึงจะเท่าทัน ...ถ้ามันยังดื้อด้านรำคาญใจปุ๊บ อย่าไปสนใจ อย่าไปสนใจความคิดความเห็นนั้นเลย ...กลับมาตั้ง ถอยๆๆ ถอยไปอยู่กับกายซะ

แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทำเหมือนไม่รู้ไม่ชี้กับอาการพวกนั้น เหมือนมองไม่เห็น อย่างนี้ แกล้งไม่เห็นมันซะ กลับมารู้อยู่กับกาย   


โยม –  ก็ต้องมีสติที่จะไปรู้ตรงนั้น ไม่งั้นมันก็จะหลงไป   

พระอาจารย์ –  ใช่ แล้วมันก็จะคอยดึงเราเข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน ...พวก จส.๑๐๐ น่ะ (หัวเราะกัน)


โยม –  มันก็แค่คำว่า “นี้” จริงๆ   

พระอาจารย์ –  ใช่ ลองดู ลองแค่ปรารภอยู่ที่ “นี้” หรือว่าตรึกอยู่ที่ “นี้”  อยู่ตรงนี้ แล้วจะรู้เลย ทุกข์มันเกิดไม่ได้เลย

แต่ถ้ามีความคิดเมื่อไหร่ ...เราจะรู้สึกความฝืด ความขัด ความดิ้น ความทะยาน ความหวงแหน ความตระหนี่ ความอาลัยอาวรณ์ มันจะเกิดเป็นเวทนาทันทีที่มีความคิดความเห็น

แต่เราบอกให้เรียนรู้แค่นั้นเอง นะ ให้เข้าใจว่าจริงๆ มันทำเอาไม่ได้ ...สติเท่านั้นถึงจะอารักขาจิตได้ สติสัมปชัญญะหรือว่าญาณทัสสนะเท่านั้น ถึงจะอารักขาจิตอยู่ใน “นี้” ได้..ด้วยปัญญา

แต่ที่พูดนี่มันเป็นลักษณะธรรม เป็นแค่ขณะหนึ่งวาระหนึ่ง ...แต่พอออกไป มันก็ทำไม่ได้ ไม่ได้ตลอดเวลา แต่มันต้องอาศัยการประมวลไปทีละเล็กทีละน้อย ด้วยสติสัมปชัญญะ

แล้วมันจะกลับมาเองๆ มันจะกลับมาด้วยตัวเอง ไม่ได้กลับด้วยการกระทำ แต่ตอนที่มัน... จุดที่มันดับตรงนั้นน่ะคือตรงนี้ ลักษณะนั้นแล้วเห็นอาการดับไป หรือเห็นความไม่ตั้งอยู่ได้ของมัน

หรือแม้แต่การเริ่มต้น เราเน้นเพียงแต่ว่าตอนคิด รู้ทันคิด รู้ทันอารมณ์ รู้ทันตอนอารมณ์ดับ แต่เราไม่ค่อยเน้นตอนที่ว่าก่อนมันจะเกิด ก่อนที่มันจะคิด

เห็นมั้ย ก่อนที่มันจะคิดนี่ มันไม่มีอะไร แล้วมันค่อยคิด ...ก่อนที่จะมีอารมณ์ มันต้องไม่มีอะไรก่อน แต่เราไม่เห็น... ไม่ทัน


โยม –  ไปเห็นตอนเอาอีกแล้ว

โยม (อีกคน) –  แล้วถ้าไปดับตรงที่ทวารที่ว่าเห็น หรือได้ยินเสียงล่ะคะ  

พระอาจารย์ –  นั่น จงใจเกินไปๆ ...รู้ได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น กลับมาตั้งหลักอยู่ที่กาย ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องคิดว่าจะต้องวางอยู่ตรงไหน วางเป็นกลางๆ รู้ปกติ อยู่กับความเป็นปกติ

ไม่ได้อยู่ที่ตา ไม่ได้อยู่ที่หู ไม่ได้อยู่ที่จมูก ไม่ได้อยู่ที่กาย ...แต่อยู่ที่ปกติ เป็นฐานของศีลก่อน นะ ความตั้งมั่นเกิดขึ้นปุ๊บ เวลาจิตมันแล่นไปในอาการทางตา ทางหู ทางจมูก...ค่อยว่ากัน

ให้มันแล่นไปก่อน อย่าไปจงใจดักรู้ อย่าดักรู้ ให้รู้ก่อนๆ ...สติต้องตามหลังนะ สติจริงๆ สติปัฏฐานต้องตามหลัง จนถึงเป็นมหาสตินั่นน่ะ ถึงจะพร้อมกัน หรือว่าสมดุล หรือว่าสมังคี

หรือเรียกว่ามรรคสมังคี หรือเรียกว่าอริยมรรครวมลงเป็นหนึ่ง คือพร้อมกันน่ะ แม้แต่สัมมาสติยังไม่เรียกว่าดักรู้เลยนะ แต่พร้อมกันหมดเลย รวมลงเป็นหนึ่งในที่อันเดียว

แต่สติปัฏฐาน ต้องมีอะไรก่อนถึงรู้ ตาเห็นรูปแล้วค่อยรู้ อย่าไปรู้ที่ลูกตาแล้วค่อยรู้รูป...ไม่ใช่ ถ้าอย่างนี้จงใจ ถ้าอย่างนี้จะเห็นลักษณะเกิดดับทางตา ทางหู ทางจมูก จะเป็นสมถะ

เพราะมันไม่ได้อยู่ในฐานของศีล เข้าใจมั้ย หรือความเป็นปกติ ...เราไม่คิดว่าจะรู้ตรงไหนน่ะ หรือต้องไปรู้ตอนไหนน่ะ ...ตอนไหนก็ได้ ผิดปกติเมื่อไหร่ก็รู้ ผิดปกติออกมามากแค่ไหนก็รู้

ผิดปกติเร็วก็รู้เร็ว ผิดปกติช้าก็รู้ช้า สติเขาจะพัฒนาตรงนั้นไปเรื่อยๆ ...จนขณะแรกที่ผิดปกติ ตรงนั้นถึงเรียกว่าสัมมาสติ แล้วไม่มีการจงใจรู้แล้ว ไม่มีการตั้งใจรู้แล้ว ไม่มีการระวังแล้ว ไม่ได้มีการน้อมแล้ว

มันเป็นสติที่ไม่มีอาการ คือมันรู้เอง คิดปั๊บแว้บเดียว...รู้เลย ไม่ได้ยุ่งกับมันด้วย มันรู้เองน่ะ มันเห็นเลย แค่เห็น ยังไม่ทันได้ เอ๊ะ อ๊ะ...หายไปแล้ว

ยังไม่รู้เลยเป็นรูป ยังไม่รู้เลยเป็นนาม ยังไม่รู้เลยอารมณ์นี้เรียกว่าอะไร หรืออารมณ์นี้เป็นอะไร หรือมันจะไปให้ค่าอะไร แค่เอ๊ะ ก็เสร็จแล้ว อย่างนี้เขาเรียกว่าสัมมาสติ ไม่มีการจงใจ ไม่มีอัตตา

เมื่อไม่มีการจงใจหรือเมื่อไม่มีอัตตา นั่นแหละคือมันเข้าไปละอัตตา มันเห็นจิตเป็นอนัตตา นั่นล่ะคือการละอัตตาของจิตหรืออัตตาอุปาทาน ด้วยสัมมาสติ หรือสติในองค์มรรคที่แท้จริง

ไม่งั้นท่านไม่เรียกว่าสัมมานะ ...ถ้าสัมมา ขึ้นชื่อว่าสัมมาแล้วนี่ เรียกว่าอยู่ในองค์มรรคที่แท้จริงแล้ว


ผู้ถาม –  หลวงพ่อครับ ถึงจุดนั้นแล้วนี่ ก็ไม่รู้แล้วว่าเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นอะไร 

พระอาจารย์ –  ไม่รู้แล้ว ไม่แยกแยะแล้ว เป็นสักแต่ว่า    


ผู้ถาม –  สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  

พระอาจารย์ –  something anything just one  คือมันไม่ได้มี meaning หรือ naming เกิดขึ้นแล้ว ตรงนั้นน่ะถึงว่า ขณะเกิดและขณะดับพร้อมกัน


ผู้ถาม –  เพราะอย่างสติปัฏฐานนี่เรายังรู้ว่าเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิตเป็นธรรม 

พระอาจารย์ –  มันยังมีบัญญัติและสมมุตินั้นอยู่ ...เพราะนั้นเมื่อเพิกถอนบัญญัติและสมมุติออก ตรงนั้นเป็นวิมุติ จะเป็นวิมุติทันที

แต่จะเป็นวิมุติได้ต้องเป็นสัมมาสตินะ ...ไม่ใช่ไปทำให้วิมุตินะ หรือไปทำเพิกถอนความเห็น ความคิด อันนั้นมันเป็นหนึ่งในระบบของสังขารหมด

ในปรมัตถจิตหรือปรมัตถธรรมนี่ มันจะไม่มีภาษาบัญญัติ มันจะไม่มีอาการใดๆ ทั้งสิ้น ยังไม่เกิดอาการใดๆ ทั้งสิ้น


(ต่อแทร็ก 1/35  ช่วง 4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น