วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/34 (1)


พระอาจารย์
1/34 (25530526D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม – ตอนโยมเล่นกีฬา เล่นเทนนิสนะคะ แล้วกำลังจะเข้าแข่งขัน มันก็จะมีสภาพจิตใจที่หวั่นไหว ไม่ค่อยปกติ ทีนี้ไอ้ตรงหวั่นไหว เราก็เลยดูจิต การหวั่นไหว อารมณ์ ทุกช็อต

มันก็เหมือนอยู่ดีๆ มันก็ตั้งมั่นขึ้นมาเองในลักษณะที่เราดูค่ะ มันมีความรู้สึกเกมการแข่งขัน หรือการเคลื่อนไหวทุกอย่างมันดูช้าลง เราเห็นภาพช้าลง มันเหมือนทุกอย่างช้าลง

แล้วก็จิตตรงนั้นที่เราเฝ้ามองจิตที่หวั่นไหวนี่ คือเห็นแล้วมันก็มีอีกตัวหนึ่งที่มันบอกว่า แม้แต่จิตที่เรากำลังดูอยู่ นั่นก็คือไม่มีจิต คือมันคนละดวงกัน

มันก็เลยทำให้เหมือนกับการที่เราไปเห็นอาการเคลื่อนไหวโดยที่เราไม่ได้รู้สึกอะไร มันเหมือนเป็นเรื่องราวที่เคลื่อนไหวน่ะค่ะ ...มันเป็นสิ่งหนึ่ง มันเป็นสิ่งต่างๆ ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่

พระอาจารย์ –  เป็นแค่อาการ


โยม –  ค่ะ เป็นแค่อาการ แต่มันก็คือแว้บเดียว ...แต่มันเริ่มต้นจากการเพ่งใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ไม่เพ่ง


โยม –  การที่เราดูความหวั่นไหวของจิตขณะนั้น แต่เหมือนเราไปเฝ้าดูน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็เฝ้าดู สติก็คือการดูอยู่แล้ว ...นั่ง รู้มั้ยว่านั่ง แล้วเห็นมั้ยว่ากำลังนั่ง เข้าใจมั้ย เห็นต่อเนื่องมั้ย เห็นต่อเนื่องรึเปล่ากำลังนั่งอยู่ยังไงนี่ เห็นมั้ย

รู้แรกนี่ ...ที่ถามเมื่อกี้น่ะ รู้แรกเรียกว่าสติ แล้วเห็นว่ากำลังนั่งนี่ อันนี้สัมปชัญญะ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นอาการที่เราเห็นทั้งหมดน่ะ ทั้งหวั่นไหว ไม่หวั่นไหว ทั้งอยาก ทั้งไม่อยาก ทั้งอะไรที่มันเกิดไปแล้วเราเห็นเฉยๆ เห็นเป็นธรรมดาอย่างเนี้ย อย่างนี้จึงเรียกว่ามีสติและสัมปชัญญะพร้อมกัน

แล้วมันจะเห็นความเป็นจริงรอบภายนอก ภายใน แล้วก็ใจ พร้อมกัน เป็นธรรมดา ...มันสัมผัสสัมพันธ์กันอย่างนี้เป็นธรรมดา โดยที่รู้เห็นเป็นธรรมดา หรือตั้งมั่นอยู่กับรู้เห็นเป็นปกติ

จิตก็เกิดความเข้าใจในตัวของมันเอง จิตมันก็จะปล่อยวางความหมายมั่น หรือความเป็นเราที่จะเข้าไปว่า มันต้องเป็นอย่างนั้น มันไม่เป็นอย่างนี้ หรือความอยาก-ความไม่อยาก ขณะนั้นมันไม่เกิดแล้ว

จิตมันจะคลายอุปาทานในขณะนั้นได้นิดนึงแล้วเข้าใจมั้ย แต่จำไว้ สตินี่ ที่โยมมาถามนี่ อันนี้คือจำโดยสัญญานะ ใช่มั้ย ...แต่จริงๆ สติในใจนี่เขาจำโดยสภาวะอาการอย่างนี้แล้ว

ตรงนี้เขาจะจดจำ แล้วเขาจะไปเรียนรู้อาการนี้บ่อยๆ บ่อยๆ จนต่อเนื่อง จนเป็นปกติน่ะ ขณะนั้นท่านเรียกว่าจิตถึงความสมดุล เป็นกลาง ศีลสมาธิปัญญาเสมอกัน แล้วรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน

จึงเกิดเห็นชอบหนึ่งครั้ง หรือหนึ่งห้วง หรือหนึ่งขณะ ที่อาการนั้นเกิด ...ตรงนั้นเขาเรียกว่าปัจจัตตัง ที่เห็นอย่างนั้นน่ะ เป็นความรู้สึกเป็นปัจจัตตัง ไม่มีคำพูด มันมีแต่เข้าใจ แล้วไม่มีอะไร

แต่มันเข้าใจน่ะว่าต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเป็น ต่างคนต่างจริง แต่ว่ามันอยู่ได้ด้วยกำลังของสติสัมปชัญญะ หรือกำลังของญาณทัสสนะ มันได้แค่นิดเดียว

แล้วก็มาจงเกลียดจงชังคู่ต่อสู้ต่อไป หรือว่าอยากได้ อยากมี อยากชนะต่อไป ...ตอนนี้ลืมแล้ว เริ่มสับสนแล้ว เริ่มเข้าไปอินเนอร์กับภายนอก-ภายใน มีความอยากเข้ามาตอนนี้ เข้าใจมั้ย

แต่พอเราปรับสมดุลของสติ-สมาธิปุ๊บ ...ศีลสมาธิปัญญาเป็นกลาง สมดุลในขณะที่ดู เฝ้าดูด้วยสัมปชัญญะ


โยม –  เรามีโลภะแทรกมั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ดูเอาเองๆ  อย่าถาม เดี๋ยวจะจำ นะ ...มันต้องรู้ ...ถ้าถามแปลว่ายังไม่เข้าใจ ถามแปลว่ายังไม่แจ้ง ถามแปลว่ายังไม่ชัดเจน

ต้องอาศัยสติเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ...แล้วมันจะจำแนกธรรมภายในของมันเอง มันจะแยกแยะออก มันจะแยกแยะด้วยปัจจัตตัง ว่า อ้อ อย่างนี้ เป็นอย่างนี้

ถ้ามาไล่ถามไล่จำ มันจะเป็นสัญญา แล้วเอาไปเปรียบเทียบตอนที่เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ เข้าใจมั้ย ไม่อยากตอบๆ ...ต้องให้จิตเรียนรู้เองเป็นประสบการณ์ของสติสัมปชัญญะไปเรื่อยๆ

ไม่ต้องกลัวผิดไม่ต้องกลัวถูก  เพราะมันไม่มีผิด มันไม่มีถูก ...รู้มันเข้าไป ดูมันเข้าไป  จนกว่าจะเข้าใจด้วยตัวเองว่า เนี่ย รู้อย่างนี้ มันถึงจะเกิดสภาวะนี้

รู้อย่างนี้ มันไม่ได้จงใจรู้น่ะ มันเห็นน่ะ เห็นแบบไม่ได้จงใจ กับเห็นแบบจงใจ ...มันจะแยกของมันออกเอง 

ไม่ต้องถามใคร อย่าไล่ถามใคร ...อย่าเอาคำพูดคนอื่นมาเป็นมาตรฐาน หรือเป็นบัญญัติ หรือเป็นกฎเกณฑ์จารีตประจำใจเรา...ไม่ใช่ ...ตัวเองต้องเรียนรู้เอาเอง

ไม่ต้องกลัวผิด ไม่ต้องกลัวติด ไม่ต้องกลัวช้า ...ไอ้พวกนี้มันเป็นความคิดความปรุงมาหลอก กลัวๆ เป็นโมหะอย่างหนึ่ง ...รู้มันเข้าไป โง่เข้าไป ดูมันเข้าไป อย่าท้อถอย แค่นั้นเอง 

แล้วมันจะค่อยๆ แยกแยะ ด้วย..เขาเรียกว่าจิตจะมีธัมมวิจยะหรือจำแนกสภาวะต่างๆ เราบอกแล้วไง พวกเราไม่เข้าใจหรอก ยังไม่เข้าใจหรอกว่าไอ้นี่ใช่หรือไม่ใช่ 

เห็นมั้ย พวกเราไม่เข้าใจ...ถ้าไม่เข้าใจมันจะสงสัย ...แต่บอกให้เลยว่า จิตเขาเรียนรู้เองแล้ว เขาจดจำสภาวะของเขาอยู่แล้ว แต่ไม่มีคำพูด ...มันเป็นปรมัตถ์ เข้าใจมั้ย มันรู้ด้วยปรมัตถ์ เป็นปรมัตถธรรมน่ะ

มันไม่มีภาษา มันรู้เงียบๆ รู้นิ่งๆ ...แล้วก็ดูเหมือนไม่รู้อะไรน่ะ รู้แบบรู้โง่ๆ ...ก็คงได้ยินคำนี้อยู่บ่อยๆ คือรู้โง่ๆ รู้ไม่มีอะไร ...แต่เราอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง ใช่หรือไม่ใช่

ไอ้ตรงนี้แหละจึงเกิดความสงสัย ลังเล แล้วก็ไหลออก แล้วก็จับเป็นคำพูด หรือว่าจับเป็นความหมาย  จะมีนนิ่ง (meaning) เนมมิ่ง (name) ออกมาให้ได้

ถ้าไม่ได้แล้วกินไม่ลง ขี้ไม่ออก มันคาอยู่ เข้าใจมั้ย มันจะคากับสมมุติบัญญัติ นั่น ...แต่พอเราไม่สนใจ พอสงสัย...ช่างหัวมัน ดูไปเถอะ ไม่รู้ก็ได้ ช่างมัน

จิตเขารู้อยู่แล้ว เขาเห็นอยู่ เขากำลังเก็บลงฮาร์ดดิสก์ไปประมวลผลภายในของเขาอยู่ แต่ไม่มีคำพูดนะ เราจะไม่รู้เลยว่าจิตเขารู้อย่างไร รู้อะไร

แต่เวลามันแสดงผลออกมา มันก็แสดงผลออกมา...สงสัยอีก พอแสดงผลออกมาก็สงสัยอีก อยากจะเข้าใจอีกว่าสภาวะนี้มันอย่างไร ต่อเนื่องอย่างไร ...นี่เราไม่ทันความสงสัยอีกแล้ว

แล้วก็อยากจะให้มันก้าวหน้าต่อไป จะได้ต่อเนื่อง ...นี่ เห็นมั้ย มันเริ่มปรุงแต่งภพข้างหน้าต่ออีกแล้ว มันมองข้ามช็อตไปแล้ว ...เห็นแค่ไหน..แค่นั้นจบ รู้ต่อไป รู้ไป

หน้าที่ที่อนุญาตให้ทำได้อย่างเดียวคือมีสติกับสัมปชัญญะ คือเฝ้าดูตามดู แล้วก็รู้ให้เป็น ...ไม่เป็นก็ต้องเป็น รู้ไปเรื่อยๆ  มันจะเป็นของมันเอง แข็งแกร่งขึ้นเอง ชัดเจนขึ้นเอง

ไม่ใช่ไปตั้งว่า จะต้องรู้ยังไงถึงจะดีที่สุด รู้ยังไงให้กลางที่สุด หรือรู้ยังไงให้ปกติที่สุด เหมือนข้าวคอยฝนน่ะ ก็รู้มันเข้าไปเถอะ

แต่เราก็บอกแล้วไง อุบายคือกลับมารู้กายบ่อยๆ แล้วมันจะจดจำสภาวะได้มากขึ้น...ว่ารู้ปกติ รู้เฉยๆ รู้แบบไม่มีเงื่อนไข รู้แบบไม่เพ่ง รู้แบบไม่จงใจ รู้แบบธรรมดา...เป็นอย่างไร

มันจะค่อยๆ ตอบปัญหาของตัวเองได้ภายใน ...ไม่ใช่ตอบปัญหาได้ด้วยความคิด หรือสังขาร หรือความจำ ...จับอันนั้นอันนี้ประมวลขึ้นมา แล้วเกิดความเข้าใจขึ้นมา

อย่าเชื่อความคิดนั้น มันเป็นแค่ทิฏฐิ มันเป็นแค่ความเห็น ...เวลาเราคิดอะไรขึ้นมาแล้วเข้าใจหรือยอมรับนี่ มันเกิดทิฏฐิหรือความเห็นขึ้นมา

พูดได้เลยว่า ทิฏฐิหรือความเห็นเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิหมดเลย เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหมดเลย แม้จะดูดี แม้จะคิดว่าละเอียดแล้ว เข้าใจแล้ว...นี่ ก็เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ

เพราะอะไร ...เพราะอวิชชาปัจจยาสังขารา เข้าใจรึยัง จุดเริ่มต้นของสังขารา สังขาราคือความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งคือความคิด  ความคิดประกอบรูปและนาม

รูปและนามแล้วเป็นเวทนา รูปและนามเป็นเวทนามีผัสสะมีเวทนา มีตัณหาอุปาทาน มีภพมีชาติ แล้วก็สุข-ทุกข์ๆๆ ก็เริ่มจากอวิชชาปัจจยาสังขารา

ใจโยมนี่ ถามก่อน อวิชชาหรือวิชชา ใช่มั้ย นี่ ทั้งหมดทุกคนไป ...คือมันเป็นใจอวิชชา เป็นต้น ต้นน้ำ ต้นตอ ต้นจิต ออกมา

จะปรุงแต่งให้ดูดี ดูเลิศ ดูประเสริฐ ดูละเอียด ดูใช่ ดูไม่น่าจะผิดก็ตาม ...มันออกมาจากอวิชชาทั้งสิ้น เห็นมั้ย เราถึงเรียกว่ามิจฉา


โยม –  จิตเดิมของเรานี่ จริงๆ แล้ว ไม่มีดีหรือร้าย จิตบริสุทธิ์อยู่เดิม

พระอาจารย์ –  ใช่ มันบริสุทธิ์โดยธรรมชาติ แต่ที่พวกเราเห็นนี่ เราไม่เห็นตัวนั้นหรอก


โยม –  เห็นแต่อวิชชา

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง


โยม –  เพราะเราอยาก

พระอาจารย์ –  ไม่อยากก็เห็น ...เพราะตัวอวิชชาจริงๆ นี่ อวิชชาปัจจยาสังขารานะ สังขาราปัจจยาวิญญาณ วิญญาณปัจจยานามรูป นามรูปปัจจยาตัณหา ตัณหาปัจจยาอุปาทาน

แม้แต่จะไม่มีความอยาก มันก็ปรุงได้ บอกให้เลย เข้าใจมั้ย ...แม้แต่ดับความอยาก แม้แต่ดับสังขารหรือความปรุงแต่งแล้ว มันก็ยังเป็นอวิชชาเลย นะ

เพราะนั้นอย่าคิด อย่าหาตัวที่เรียกว่า อวิชชา อยู่ตรงไหน ...มีแต่พระอรหันต์ภูมิเดียว จิตเดียวเท่านั้น ด้วยอาสวักขยญาณ ถึงจะเข้าใจ เข้าถึงใจ

เข้าถึงใจนะ เข้าที่ใจเลยนะ ไม่ได้เข้าที่หัวหรือเข้าที่ความคิดนะ ...ท่านเข้าใจถึงใจเลยนะ เข้าถึงใจเดิมเลย ด้วยอำนาจของอาสวักขยญาณเท่านั้น

แต่ถ้าเราจะพยายามเข้าใจด้วยความคิดนี่ มันไม่เข้าใจนะ ...มันไปเข้าอยู่ที่สังขารอีกแล้ว มันไปคาอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็วนอยู่ตรงนั้นแหละๆ

มันวนอยู่ตรงสังขาราปัจจยานามรูป นามรูปก็นึกภาพ อิมเมจภาพแล้ว...ใช่-ไม่ใช่ อยู่ตรงนั้นแหละ ...เพราะนั้นอย่าคิด ให้เท่าทัน แล้วก็ช่างหัวมัน ทุกความคิดไป


(ต่อแทร็ก 1/34  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น