วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/31 (2)


พระอาจารย์
1/31 (25530526A)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/31  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เมื่อรู้เป็นกลางนี่ ถ้ารู้เป็นกลางเมื่อไหร่ โดยไม่เข้าไปแตะต้องทั้งภายนอกและภายใน ...จนเกิน เป็นไปตามความอยากหรือไม่อยาก ...อันนี้เกิน เกินไป

ตรงนี้ มันจะเข้าใจความหมายว่า ปล่อยไปตามเหตุปัจจัย เข้าใจมั้ย ...ต่างคนต่างดำเนิน ไม่ว่ายังไง เราแค่มีหน้าที่รู้แล้วประคับประคองมันไป ไม่ต้องอะไรกับมันมากมาย

แต่ไม่ได้หมายความว่าหยุดโดยสิ้นเชิง หรือว่าไม่ทำอะไร งอมืองอตีน...ไม่ใช่ ...ก็ทำไปตามปกติ เคยทำยังไงก็ทำไป เรียนรู้กับมันว่าอันไหนเกิน อันไหนขาด อย่างนี้

ก็ค่อยๆ รู้ไป แล้วมันจะเข้าใจว่า อ๋อ ปล่อยให้มัน...ขันธ์ภายนอกจะว่ายังไงก็ว่าไป เขาจะรบราฆ่าฟัน เขาจะว่ากันยังไง เขาจะมีความเห็นยังไง เราเอามือไปปิดปากเขาไม่ได้

เราไม่ต้องอธิบายว่า เขาจะต้องเห็นถูกอย่างนั้น ไอ้อย่างนี้ผิด ...เห็นมั้ย เราไม่ต้องไปยุ่งกับขันธ์ภายนอกจนเกินไป หรือผู้คน หรือวัตถุ หรือเหตุการณ์จนเกินไป

เหตุการณ์อย่างนั้น เหตุการณ์อย่างนี้ ที่เรารับรู้แล้วมันกระทบเกิดความเดือดร้อน สบายใจมั่ง ไม่สบายใจมั่ง ...เราก็ต้องรู้ทันภายในของเรา

สบายใจ ไม่สบายใจ หงุดหงิดรำคาญ คิดปรุงแต่ง มีความอย่างนั้นอย่างนี้ ...ก็ให้เห็นอาการที่มันเกิดขึ้นๆ หมุนอยู่อย่างนี้ ด้วยอาการที่ว่ารู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง

ตั้งมั่นอยู่กับความเป็นกลาง ไม่เข้าไปยุ่งกับมัน ไม่เข้าไปพัวพัน ไม่เข้าไปเกาะเกี่ยว หรือเข้าไปแสวงหา ในอดีตหรือในอนาคต

เพราะเวลาเรารับรู้ ถ้าสติไม่ตั้งมั่นเพียงพอ หรือว่าไม่อยู่กับรู้หรือว่ารู้เฉยๆ ...มันจะเข้าไปเกลือกกลั้วกับอารมณ์ ...พอเกลือกกลั้วกับอารมณ์ปั๊บ มันจะมีความไปหาอารมณ์

ไปหาทางแก้ ไปหาทางที่ว่า ทำยังไงข้างหน้าที่มันจะดีกว่านี้ ...ตรงนี้มันเข้าไปเบี่ยงเบนความเป็นธรรมชาติของขันธ์ภายในและขันธ์ภายนอก

ลักษณะที่มันเข้าไปเบี่ยงเบนไปหมดปุ๊บนี่ ผลลัพธ์ออกมาคือความยึดมั่นถือมั่นมากขึ้น ว่าเราทำได้มั่ง เราทำไม่ได้มั่ง เราทำได้ก็คิดว่าเราเก่ง เราสำเร็จ เรามีความสามารถ

ก็มีความเชื่อว่าตัวเรา...ตัวเรานี่แข็งแกร่งๆ มากขึ้นในการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ ...ความเป็นมานะ อัสมิมานะ หรืออัตตาของเราก็จะมากขึ้นๆ หนาแน่นๆ ขึ้นว่าตัวตนเรา

เหมือนคนที่มีความรู้ความสามารถ แล้วสามารถพูดแล้วมีคนฟัง พูดแล้วเขาเชื่อแล้วเขาเอาไปทำได้สำเร็จผลอย่างนี้ เขาจะมีความรู้สึกว่าเขานี่เก่ง หรือว่าเหนือ

เห็นมั้ย อัตตามันก็จะมีมากขึ้น พอกพูนขึ้น ว่าเราทำได้ ...ความเป็นตัวเป็นตนน่ะมันไม่จางคลาย มันมีแต่เพิ่มขึ้นไม่รู้ตัว

แต่ถ้าเราปล่อย...โดยที่ว่าไม่ให้ไปยุ่งกับมันนี่ ...ความเป็นตัวเป็นตน ความเป็นของของเรา ความเป็นตัวเรานี่ เราไม่ได้เอาตัวนี้ออกมาใช้เลย ...มันก็จะค่อยๆ ฝ่อลงไป

แล้วก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างนี่...ถ้าเราไม่ยุ่งกับมันนะ ไม่เอาเราเข้าไปยุ่งกับมันนี่นะ มันก็ดำเนินไปได้น่ะ ...มันก็มีอยู่แล้ว เหตุการณ์ก็มีอยู่แล้ว 

ผู้คนเขาจะพูด เขาจะคิด เขาจะทำยังไง ถ้าเราไม่ต้องยุ่งนะ เขาก็ดำเนินของเขาไปได้ ...ส่วนใจนี่ ถ้าเราไม่ไปยุ่งกับอารมณ์ อาการมันก็หมุนไปหมุนมาของมัน 

ไม่ใช่ว่าเราต้องไปทำมันตลอดเวลา ...ก็เราลองไม่ทำมันดูสิ มันก็มีของมันน่ะ หรือบางทีก็ไม่มี เดี๋ยวบางทีก็มากขึ้น เดี๋ยวบางทีก็น้อยลง เห็นมั้ย

เมื่อเราเห็นลักษณะที่เมื่อไม่เอา "เรา" เข้าไปยุ่ง ไปกระทำ ...การดำเนินไปของขันธ์น่ะ เขาก็ดำเนินไปโดยธรรมชาติ เป็นกลาง เป็นอิสระของเขาอยู่แล้ว

ตรงนี้ “เรา” ก็จะเริ่มคลายออก คลายตัวออก ความเห็นที่เป็นเราก็จะน้อยลงๆ ...ก็ต่างคนต่างเป็น ต่างคนต่างกระทบสัมผัสกัน มองเป็นเรื่องปกติ ...เป็นธรรมดา

ไม่ใช่ดี ไม่ต้องไปตื่นเต้น ไม่ต้องไปเสียใจดีใจในอาการที่มันมีอยู่บ้าง มากขึ้นบ้าง น้อยลงบ้าง หายไปบ้าง หรือเกิดขึ้นซ้ำซากๆ บ้าง หรือว่านานๆ เกิดทีบ้าง หรือว่าเกิดแล้วอยู่ยาว เกิดแล้วอยู่สั้น อย่างนี้

ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมัน ไม่ใช่ว่าผิดหรือว่าถูกอะไรเลย ...ซึ่งอาการหรือความเห็นเช่นนี้จะเกิดได้ต่อเมื่อ ทั้งหมดกระบวนการจะต้องอยู่ในที่เราพูดทั้งหมดเลย

คือต้องรับรู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง ตั้งมั่น เป็นกลาง  แล้วก็เห็นอาการภายนอกและภายในตามความเป็นจริง ...ทุกอย่างจริงหมด คนนั่งนี่ก็จริง หมานอนอยู่นี่ก็จริง ลมพัดนี่ก็จริง สัมผัสนี่ก็จริง

ถ้าเรารู้ เห็นมั้ย ไม่ต้องไปแตะต้อง ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไร ธรรมดา ปล่อยให้เขาเป็น ดำเนินไป ...แล้วก็ดู พอใจ-ไม่พอใจมั้ยในอาการ...เฉยๆ ก็เฉยๆ ไม่มีอะไรก็ไม่มีอะไร

นี่ขันธ์เราก็นั่งอยู่ รูปก็นั่ง ภายในขันธ์รูปก็นั่ง นามเป็นยังไง ยินดี-ยินร้าย มีความปรุงมีความแต่งอะไรอยู่ ก็ดูไป ภายนอกภายใน ...ภายนอกมี ภายในก็มี

แต่ว่าปกติมั้ย เราไปยุ่งกับมันมั้ย ไปยุ่งกับมันตอนไหน ...นี่คือลักษณะอย่างนี้ สติต้องเห็นทั้งภายนอกและภายใน โดยสมดุล ...คำว่าสมดุลนี่ ต่างคนต่างอยู่ด้วยกันได้โดยสันตินะ เข้าใจมั้ย

การที่เราจะเข้าไปหยิบเข้าไปจับ เข้าไปทำอะไรนี่ เข้าใจมั้ย มันทำไปด้วยความปรารถนาทั้งหมด ...เพราะนั้นในระหว่างที่กระทำไปนี่ พระพุทธเจ้าก็บอกให้รู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง

คือทำไปเถอะ ก็ทำได้ ...แต่ให้รู้ตัวอยู่ รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ก็ทำไป เป็นการปรับสมดุลให้ทั้งภายนอกและภายใน กลับมาคืนเป็นเรื่องธรรมดา ...นี่แหละ แล้วทุกอย่างมันก็จะเป็นไปตามเหตุและปัจจัย

เหมือนฝนจะตกนี่ เห็นมั้ย มันต้องพร้อมด้วยเหตุปัจจัย ใช่ป่าว สภาวะอากาศ ปริมาณความชื้น ลม อุณหภูมิ พวกนี้มันจะต้องเป็นปัจจัยของมันเองที่มันพอดี พั้บ ฝนมันจึงตก

เพราะนั้น เราอยากให้ฝนตก..ก็ไม่ได้ เราอยากให้ฝนหยุดก็ไม่ได้ ...แล้วเราพยายามจะทำให้ฝนตกนานๆ ก็ไม่ได้ หรือพยายามทำให้ไม่มีฝนเลยก็ไม่ได้

อย่างนี้เรียกว่าเรากำลังเข้าไปฝืนเหตุและปัจจัย ด้วยการเข้าใจว่าเราทำได้ ...นี่ ชีวิตเรานี่มันอยู่ด้วยการฝืนเหตุและปัจจัย โดยไม่ยอมรับ

ว่า...ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันดำเนินนี่ หรือว่ามากระทบมาสัมผัสเรานี่ โดยหลักใหญ่แล้วนี่ เขามา หรือเขามี หรือเขาเป็น หรือเขาเกิด...ด้วยเหตุปัจจัยที่พอดีของมันอยู่แล้ว 

แต่ว่าตัวเราก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งเหมือนกันในการเข้าไปแทรกแซง ...ก็พยายามเอา “เรา” ออกมามากๆ ถอยออกมา หยุดการกระทำของเรามากๆ แค่นั้นเอง 

มันจะมองเห็นเหมือนแบบเรานั่งอยู่บนภูแล้วดูเสือกัดกันน่ะ ก็จะเห็น ...นั่งแบบสงบ โดยดุษฎี นั่งดูทุกสิ่งทุกอย่าง กายดำเนินยังไง จิตดำเนินยังไง 

เห็นมั้ย มันจะแยกส่วนกันเลย แยกขันธ์ออกเป็นส่วนๆ ...แล้วก็มีหน้าที่...จิตที่มีปัญญาหรือว่าโดยธรรม หรือเป็นธรรม หรือมีปัญญาญาณทัสสนะแล้วนี่ มันจะรู้ดูเห็นอยู่เฉยๆ

เหมือนกับนั่งอยู่ในที่สูงแล้วก็นั่งดูกาย หรือว่าดูอารมณ์ภายใน แล้วก็ดูอาการภายนอก ต่างคนต่างแสดงละคร หรือว่าประกอบปัจจัยซึ่งกันและกันยังไง มีการกระทบ มีการสัมผัสกันอย่างนี้ๆๆ

ใจก็มีหน้าที่รับรู้หรือดูเฉยๆ เห็นอยู่ เห็นอาการตามความเป็นจริง ...ไม่ได้ไปยินดียินร้ายกับสิ่งที่มากระทบสัมผัสกันอยู่ ระหว่างอายตนะภายนอกกับผัสสะภายใน กับตัวรู้ ...เข้าใจรึยัง


โยม –  เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

พระอาจารย์ –  เข้าใจส่วนหนึ่ง การกระทำอีกส่วนหนึ่ง (โยมหัวเราะ) ...มันต้องไปทำ จนถึงเข้าถึงใจ ...แค่เข้าใจนี่มันเข้าแค่หู แล้วก็จดจำ แล้วก็คิดเอาเองว่าเข้าใจ

แต่ว่ามันจะถึงขั้วจริงๆ ต้องเข้าไปถึงใจ เห็นซ้ำซากๆ ...รู้ แล้วก็ใช้อยู่ประจำ เห็นอยู่ประจำในการดำเนินอยู่ในองค์มรรคอย่างนี้

ภาวะที่มันจะเกิดความแจ้งในใจหรือว่าปัจจัตตัง จึงจะเรียกว่า “เข้าใจ” ...มันรู้เข้าไปที่ใจเลย รู้แล้วมันเข้าไปที่ใจเลย

ไม่ใช่รู้แล้วออกมาอยู่ที่ความคิด รู้ด้วยความคิด รู้ตามความคิดความจำ รู้ตามที่ได้ยินได้ฟังแล้วจดจำได้ ...แต่มันจะกลับไปรู้อยู่ที่ใจ รู้แล้วกลับมารู้อยู่ที่ใจ จะตั้งมั่นอยู่ที่ใจ

เป็นหนึ่งอยู่กับใจรู้...ที่ไม่วอกแวกส่ายแส่ ไหลไปไหลมา ส่าย กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ดิ้นรน ทะยานอยาก ...จนมันอยู่ในที่อันควร อยู่ที่ฐานที่รู้เปล่าๆ เป็นปกติ


(ต่อแทร็ก 1/32)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น