วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/31 (1)



พระอาจารย์
1/31 (25530526A)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  หลวงพ่อเจ้าคะ ปล่อยมันไปตามเหตุปัจจัย มันมีนัยยะว่ายังไง แล้วอะไรมันจะเป็นเหตุปัจจัยจริงๆ ...เราว่าเราใช้ชีวิตถูกต้องแล้วอย่างนี้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติ...ตามปกตินี่ โดยที่สมมุติเราจะตั้งความหวังอะไร หรือจะทำอะไร ...ตั้งใจทำอะไรนี่ หรือจะไม่ทำอะไรก็ตาม 

หรือจะตั้งอย่างนั้นว่าจะต้องอย่างนี้อย่างนู้น...ก็ตั้งไป ก็ทำไปตามที่เราต้องการอย่างนั้นน่ะ ตามปกติไป

แต่เมื่อถึงวาระที่มันไม่ได้เป็นไปดั่งที่เราตั้งไว้ หรือที่เราคิดไว้ คาดเอาไว้ อย่างนี้ ...ถ้าถึงภาวะอย่างนั้นน่ะ ไม่ต้องดิ้นรน หรือว่าขวนขวาย หรือว่าดื้อดึง ดันทุรังต่อ

ด้วยการที่ว่าจะแก้ หรือต้องทำให้ได้ หรือว่าต้องเปลี่ยนก็จะเปลี่ยนให้ได้อย่างนี้ ...พอถึงวาระนี้ที่จิตมันจะเข้าไปมากขึ้น หรือว่าต้องได้อย่างนี้ ...นี่ ต้องปล่อยแล้ว เข้าใจมั้ย 

ต้องรู้จักถอยออก ให้มันเป็นไปเอง...ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้  จะเปลี่ยนก็เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน ตรงนี้เขาเรียกว่าปล่อยไปตามเหตุปัจจัยของมันเอง

โดยที่เอาความปรารถนาของเรานี่ถอยออกมา ถอยออกมา ...ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นการที่ไปฝืนเหตุและปัจจัย ...ตรงนี้ จะมีปัญหาในการที่ว่าไปสร้างกรรมขึ้นมาใหม่

แต่ไอ้ตามเหตุปัจจัยนั่นก็หมายความว่าเราก็ยินยอมรับ ถือว่านั่นเป็นวิบากที่เราจะต้องรับ จะได้ก็ได้ จะไม่ได้ก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนได้ก็เปลี่ยนได้ เปลี่ยนไม่ได้ก็เปลี่ยนไม่ได้

ใครจะเป็นยังไง ใครเขาจะว่าอย่างนั้น ใครเขาจะพูดอย่างนี้ แล้วเราต้องไปคอยแก้ตัวกับเขา ต้องคอยอธิบายกับเขา ชี้แจงอะไรกับเขานี่ ...เราก็หยุดการกระทำอย่างนี้ เข้าใจมั้ย

แล้วก็ปล่อยให้เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือแล้วแต่...เขาจะว่าก็ว่าไป เขาเข้าใจก็เข้าใจ เขาไม่เข้าใจก็เรื่องของเขา อย่างนี้นี่ เป็นเหตุปัจจัยของเขาแล้ว ...นี่เขาเรียกปล่อยตามเหตุปัจจัย

เราไม่ต้องไปแก้หรือคอยอธิบาย เราต้องอย่างนั้นน่ะ คุณต้องอย่างนี้นะ อย่างนี้ ...คือไม่ไปพัวพันกับมันด้วยเป้าประสงค์ใดประสงค์หนึ่งที่เราปรารถนา อย่างนี้

มันต้องหัดเรียนรู้ที่จะปล่อยให้มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ด้วยความอดทน แล้วก็อดกลั้น เข้าใจมั้ย ...เพราะมันจะมีจิตอีกตัวหนึ่งน่ะ ของเราเองนั่นน่ะ

มันมีจิตที่มันจะเข้าไปประกอบกระทำ ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ให้มันดั่งใจในสิ่งที่มันไม่ดั่งใจ อะไรอย่างนี้ ...อย่างนี้เขาเรียกว่าเริ่มเข้าไปพัวพันแล้ว

เพราะนั้นการเรียนรู้ตามเหตุปัจจัยหรือปล่อยไปตามเหตุปัจจัยนี่ นัยยะหนึ่งคือจิตมันจะเรียนรู้โดยการปล่อยวาง ยอมรับความเป็นจริงที่ปรากฏ...โดยไม่มีเงื่อนไข เข้าใจมั้ย มันเป็นอย่างนั้น

นี่ ถึงจะเรียกว่าตามเหตุปัจจัยจริงๆ เพราะนั้นพอวาระสุดท้ายแล้ว เมื่อยอมรับตามเหตุปัจจัยได้จริงๆ นี่ หมายความว่าเราจะหยุดการเข้าไปกระทำโดยทั้งสิ้นทั้งปวง

อะไรจะเกิดก็ได้ อะไรจะตั้งอยู่ก็ได้ อะไรจะดับไปก็ได้ เข้าใจมั้ย ...ก็ตามเรื่องของมันน่ะ

มันจะอยู่นาน มันจะอยู่ไม่นาน มันจะมาอีก มันจะไม่มาอีก มันจะซ้ำซาก  จะเกิดบ่อย อยู่นาน เกิดเร็วหายเร็ว อย่างนี้ ...ก็จะไม่ไปเดือดเนื้อร้อนใจกับสิ่งที่มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

เพราะนั้นตรงนี้ปัญญามันจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นว่าสุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างนี่ มันเป็นสิ่งที่มันเป็นธรรมชาติที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเอง

โดยที่เรานี่ หรือใครก็ตามนี่ ไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุม ชี้นำ หรือว่าทำ หรือว่าให้มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้ ...จิตมันจะปล่อยออกหมดเลย แล้วก็จะเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของทุกอย่าง

นี่ มันเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ต่างหากเป็นตัวดำเนิน ...ไม่ใช่ใครคนใดหรือว่าแม้กระทั่งเรา ที่จะเป็นผู้เข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือทำให้มันคงอยู่ หรือทำให้มันดับไปได้

เพราะนั้นเมื่อปล่อยให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยปุ๊บ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นอิสระ ภายนอกก็เป็นอิสระในการตั้งอยู่ ดำเนินไป หมุนไป ภายในก็คือกายวาจาใจของเรา ก็มีหน้าที่รับรู้

แล้วก็ทำไป เท่าที่จะทำ...ประคับประคองในการอยู่ร่วมกันโดยสมดุล สันติ ...เพราะนั้นมันจะมีความว่ายอมรับความจริงทั้งภายนอกและภายใน

ภายในก็รับรู้ ภายนอกเขาก็ปรุงแต่ง เขาก็แสดงอาการต่างๆ นานาไป ...ภายในเราก็รับรู้ด้วยอารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ว่ากันไป ก็ปล่อยให้มันมีไป ...แล้วสุดท้ายก็ดับทั้งสองฝ่าย เข้าใจมั้ย

มันก็เปลี่ยนไปทั้งคู่นั่นแหละ ภายในเปลี่ยนภายนอกก็เปลี่ยน ภายนอกเปลี่ยนภายในก็เปลี่ยนอย่างนี้ ...แต่ว่าต่างคนต่างหมุน แล้วก็จะไม่มีตัวที่สามตัวที่สี่...ที่ว่าเรานี่เป็นตัวเข้าไปแทรกแซง

หรือไปยุ่ง ไปเปลี่ยนทั้งภายนอก ไปเปลี่ยนทั้งภายใน ...เห็นมั้ย มันกลายเป็นต่างคนต่างเป็นอิสระทั้งขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์ภายนอก ขันธ์ภายใน แล้วก็มีใจรับรู้

คราวนี้ไอ้ใจที่รับรู้ตอนนั้นน่ะ มันก็ตามกำลังภูมิปัญญาของใจแล้ว ...ถ้าอย่างพวกเราๆ นี่รับรู้...พั้บๆๆๆ รับรู้ ข้างนอกหมุน ข้างในก็หมุนตาม "เรา" รู้ปั๊บ มันไม่ปล่อยให้เป็นอิสระ เข้าใจมั้ย

"เรา" จะเข้าไปแทรกแซง ยุ่งเลยน่ะ...รับไม่ได้ อันนี้ไม่ได้ มันต้องอย่างนั้น มันควรจะเป็นอย่างนี้ ปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไม่ได้ เราจะต้องทำอย่างนี้ๆๆ


โยม –  สติมันขาดไป

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่สติขาด ไอ้ความ...ใจที่รู้...ที่มันยังมีอาสวะแขวนลอยอยู่ หรืออนุสัยแขวนลอยอยู่นี่ มันจะผลักดันให้เกิดตัณหาอุปาทานในการรับรู้นั้นๆ

มันก็จะเกิดอาการที่เป็นทั้งปฏิฆะแล้วก็ราคะ ทั้งพอใจและไม่พอใจ หรือเกิดอาการที่ว่ายินดีหรือยินร้ายต่อขันธ์ภายนอก

อย่างนี้เรียกว่าขันธ์ภายนอก มากระทบกับตาหูจมูกลิ้นกายใจ มากระทบกับขันธ์ของเรา ปุ๊บ จิตก็จะมีเวทนา ความรู้สึก มีอารมณ์เกิดขึ้นภายในของเรา

นี่เรียกว่าขันธ์ภายในของเราเริ่มดำเนินแล้ว...เราก็รู้ สติก็รู้ ...แต่ถ้าไม่มีสติรู้ มันก็หมายความว่า ปล่อยให้อารมณ์น่ะเป็นตัวพาดำเนิน

เพราะนั้น การดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคนนี่ มันใช้ตัวความคิดกับอารมณ์เป็นตัวพาดำเนินวิถีการทำงาน วิถีการอยู่ร่วมกับผู้คน วิถีการจะไปจะมา

มันแล้วแต่ว่า มันอยากจะไปก็ไป ด้วยความคิดที่อยากไป อย่างนี้ มันจะเป็นตัวพาดำเนิน อยากได้อะไร อยากจะทำอะไร เห็นมั้ย มันอยู่แค่นี้ อยู่ที่ความปรุงแต่งหรือความคิดอ่าน

แต่คราวนี้พอมาเป็นนักปฏิบัติปุ๊บ ขันธ์ภายนอกมี รู้เห็นกระทบมา มีอารมณ์ปุ๊บ กระทบรู้ ...มันมีอีกตัวหนึ่งคือสติที่เห็นไง เห็นว่า...อ๋อ มันมีอารมณ์ มีความพอใจ มีความไม่พอใจ

แต่คราวนี้ว่าไอ้สติที่รู้ตรงนี้ มันรู้จากใจน่ะ สติกับใจนี่ตัวเดียวกันที่แบ่งออกมา ...นี่ พอรู้แล้วมันไปด้วยน่ะ มันไม่รู้เฉยๆ มันไม่รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง เข้าใจมั้ย

ถ้าไม่รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง พอรู้ว่ามีอารมณ์ปุ๊บ มันทนไม่ได้น่ะ มันจะต้องเข้าไปแก้ มันจะต้องเข้าไปทำ อะไร ...อย่างนี้ เริ่มเข้าไปแทรกแซงอารมณ์แล้ว ไปแทรกแซงขันธ์ การดำเนินไปของขันธ์

เพราะนั้น พอเริ่มแทรกแซงการดำเนินไปของขันธ์ภายในปั๊บนี่ หรือตามมันไป หรืออะไรก็ตาม เรียกว่าเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้มันเป็นไปหรือไม่เป็นไปอะไรก็ตามนี่

มันจะพาให้ขันธ์ของเรานี่ ไปแทรกแซงขันธ์ภายนอก เข้าใจมั้ย ด้วยการกระทำ กายกรรม หรือวจีกรรม ...มันก็จะไปปรุงแต่งขันธ์ภายนอก

ซึ่งเนื่องด้วยผู้คนผู้อื่น หรือสัตว์ หรือวัตถุข้าวของ สิ่งที่มีวิญญาณ สิ่งที่ไม่มีวิญญาณ กามวัตถุ หรือว่ารูปวัตถุ ...มันก็เกิดความพัวพันต่อเนื่อง

เนี่ย กระบวนการที่ต่อเนื่องของคน กับนักปฏิบัติเริ่มต้น...มันจะมีอยู่สามอาการ...ภายนอก ภายในคือขันธ์ แล้วก็จิตรู้

คราวนี้ไอ้จิตรู้นี่ เราไม่ได้บอกว่าให้มาดูจิตรู้...แต่ให้เอาสติรู้ เข้าใจมั้ย เอาสติแยกออกมา ...คือสติก็คือส่วนหนึ่งของใจที่แยกออกมารู้ ระลึกรู้ เท่าทันๆ เท่าทันอาการที่จะไม่ไปกับมัน ไม่เพิ่มมัน ไม่ลดมัน

ตรงนี้ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่ากลาง ให้อยู่ในฐานรู้กลางๆ  สติเป็นมัชฌิมา หรือสติปัฏฐาน ...ให้รู้ขันธ์ภายนอกกับขันธ์ภายในนี่ ให้เป็นสติปัฏฐาน

รูปกับนาม ถ้าแยกโดยย่อ รูปนามภายนอก กับรูปนามภายใน อย่างนี้ ...ขันธ์นี่ก็คือรูปนาม ขันธ์ห้านี่คือรูปนาม  สติปัฏฐานก็คือรูปนาม กายเวทนาจิตธรรมนี่แบ่งโดยย่อก็คือรูปนาม

ก็ให้รู้รูปนามเท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น เนี่ย รู้ด้วยกลางๆ ...อันนี้พระพุทธเจ้าบอกว่า มัชฌิมาปฏิปทา


(ต่อแทร็ก 1/31  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น