วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/28 (2)


พระอาจารย์
1/28 (25530428B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
28 เมษายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/28  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แล้วก็อย่าพยายามไปหน่วง ไปยึด ไปให้มันอยู่อย่างนั้น ไม่แปรเปลี่ยน ...คิดผิดแล้ว จิตมันเริ่มหลอกเราแล้ว จิตมันเริ่มสร้างอัตตาขึ้นมาใหม่ให้เราไปผูกไปพัน กับสภาวะธาตุสภาวธรรมที่อยู่ต่อหน้าเราน่ะ

ถ้าไปยึด ถ้าไปหน่วง ถ้าไปรักษามัน ถ้าไปประคองมัน หวงแหนมันไว้ เดี๋ยวจะเป็นทุกข์มากขึ้นเมื่อมันหมดไป หรือว่าน้อยลงไป ...เราก็จะอ้างว่าแย่แล้ว ตกแล้ว เสื่อมแล้ว

แต่เขาแสดงธรรมตามความเป็นจริงให้เราดูต่างหาก ว่าทุกสิ่งมันแปรเปลี่ยน มันไม่เสถียร มันแปรปรวน มันไม่ใช่ของเรา ที่จะไปบอกได้ว่าฟัง ...มันไม่มีอะไรอยู่ใต้อำนาจของเราเลย

อำนาจของเราที่แท้จริง หรือจิตที่แท้จริง...อำนาจหรือหน้าที่ที่แท้จริงมีอย่างเดียวคือ..รู้  นี่ มันทำอะไรไม่ได้เลย มีหน้าที่จริงๆ อย่างเดียว...คือรู้อย่างเดียว

แต่ไอ้ที่คิดว่าเราจะได้ เราจะมี เราจะเป็น ...อันนั้นเป็นความคิดหรือว่าเป็นสังขาร หรือว่าเป็นอุปาทาน 

ต่อไปนะ ถ้าดูไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ด้วยสติที่เป็นกลาง มันจะแยกแยะออก ว่าอันไหนเทียม อันไหนแท้  อันไหนจริง อันไหนเมคขึ้นมา อันไหนเป็นแค่เงา อันไหนเป็นมายา

ดูไปดูมา รู้ไปรู้มา จะเห็นเลย...ทั้งหลายทั้งปวงที่เราอยู่กับมันนี่ ไม่มีจริงสักอย่าง ...ตอนนั้นน่ะ จะหาความเป็นเราไม่มีเลย จะหาความเป็นเราในขันธ์ไม่มีเลย จะหาเราในขันธ์ไม่มีเลย

ก็มองเห็นขันธ์เป็นความว่างเปล่า มันเป็นแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่แวบไปแวบมา แฉลบไปแฉลบมา ขยับไปเขยื้อนมา ...นั่นน่ะ จะเห็นทุกข์ตามความเป็นจริง

เอ้า สงสัยอะไรถามได้


โยม –  ก็คือก็ทำงานตามปกติ ก็คือไม่ต้องแบบ..ช่วงนี้ว่าง ไปปฏิบัติเถอะเรา เก้าวัน เจ็ดวันอะไรอย่างนี้ คือดูไป  

พระอาจารย์ –  ไอ้การปฏิบัติเป็นช่วงหรือเป็นคอร์สนี่ก็ทำได้ เราไม่ได้ห้าม เข้าใจมั้ย แต่ว่าอย่าไปทำด้วยความคิดว่าการปฏิบัติจริงๆ คืออย่างนั้น ...เพราะการปฏิบัติจริงๆ คือ “เดี๋ยวนี้” เข้าใจมั้ย   


โยม –  คือในปัจจุบัน  

พระอาจารย์ –  เออ ต้องไม่ทิ้งคำว่า “เดี๋ยวนี้” เลย ...รู้ตัวเมื่อไหร่ เห็นเมื่อไหร่ ต้องเห็นและเห็นเท่าที่เห็น ...ไม่ใช่ว่ารู้แล้วๆ เอ๊อะ หายแล้ว จะต้องไปสร้างจิตอันนี้ขึ้นมาให้มันเป็นอย่างนี้ ต้องให้เป็นอย่างนั้นนะ

ไม่ใช่นะ ...รู้ยังไงก็อย่างงั้น จิตดีก็ดี จิตไม่ดีก็ไม่ดี หงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด สบายก็รู้ว่าสบาย รำคาญก็รู้ว่ารำคาญ ฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน ...ให้รู้เฉยๆ ตรงนั้น ไม่ต้องแก้มันนะ

งงก็รู้ว่างง สับสนก็รู้ว่าสับสน สงสัยก็รู้ว่าสงสัย คือรู้ไปเหอะ อะไรก็ได้ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า ...จะหงุดหงิดรำคาญกับเด็ก หรือเด็กมันแสดงปฏิกิริยาอะไร ให้กลับมาปรารภเลย

อยากจะตีมัน อยากจะด่ามัน อะไรก็ได้ที่มันเกิดน่ะ ไม่ต้องแก้ ให้รู้เลยว่าเราแสดงอารมณ์อย่างนี้ ภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น ให้กลับมารู้ตรงๆ รู้ตามความเป็นจริงที่มันปรากฏ

แล้วจะเห็นว่าอารมณ์พวกนี้ มันวน มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา มันไม่มีอะไรอยู่หรอก เวลาโกรธเด็ก ก็โกรธแค่ตอนนั้นน่ะ หน้าดำหน้าแดงอยู่ตอนนั้น แป๊บเดียวก็หายแล้ว พอมีเรื่องใหม่มากระทบ 

นี่ สังเกตดูสิ มันก็เปลี่ยนไป แม้แต่บางเรื่องที่เรายึดมั่นถือมั่นหนัก อาจจะจมอยู่เป็นวัน ครึ่งค่อนวัน  แต่เดี๋ยวก็คลายเอง ไม่ต้องยุ่งอะไรกับมันหรอก ไม่ต้องไปตำหนิว่าผิด ไม่ต้องหาว่าอย่างนั้นถูก อย่างนี้ไม่ดี

ไม่ต้องเรียก ไม่ต้องไป meaning ...เขาไม่ได้บอกว่าเขาดีหรือไม่ดี  เหมือนกับที่เราบอกว่า กายมันยังไม่รู้เลยว่ายืนเดินนั่งนอน เขาเป็นอาการหนึ่งเท่านั้นที่ปรากฏ ...เพราะนั้นมองให้แค่เป็นอาการ

ตรงนั้นเรียกว่าจะเห็นเนื้อธรรม เห็นธรรมตามสภาวะจริง เขาไม่ได้เรียกว่าอะไร ...ถ้าเราไปให้ชื่อกับมัน ไปตั้งชื่อกับมัน มันจะพ้องกับอุปาทานทันที หรือเราจะมีอุปาทานตามสมมุติทันที

เพราะนั้น ถ้าเราไม่มีสมมุติกับมัน หรือไม่ไปให้ค่าให้ความหมาย ให้ชื่อเสียงเรียงนามกับมัน  สภาวะนั้นน่ะ จึงจะเรียกว่า สมมุติมันกลายเป็นวิมุติ...คือไม่มี ไม่เป็นตามสมมุติ

คือเราไม่ให้สมมุติมัน บัญญัติมันปุ๊บนี่ ...สมมุติมันเปลี่ยนเป็นวิมุติ คือกลายเป็นสภาวธรรมหนึ่ง ...แต่ถ้าไล่ตามบัญญัติสมมุติไปเรื่อยนี่ มันก็ต่อเนื่องไปไม่รู้จักจบหรอก

แต่พอมองเป็นสภาวธรรม โดยไม่มีบัญญัติไม่มีสมมุติปุ๊บนี่ ทุกเรื่องเหมือนกันหมด เพราะสมมุติมันมีความหมายเดียว..คือไม่มีความหมายอะไร นั่นแหละ ถึงจะเรียกว่าสมมุติเป็นวิมุติ มองเห็นสมมุติเป็นวิมุติ

ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ตั้งสมมุติฐานอยู่เรื่อย นั่นน่ะคือการเข้าไปให้ค่าหรืออุปาทานในอาการทั้งหลายทั้งปวง ...มันจะเกิดความที่ว่าต่อเนื่องไม่รู้จักจบ เหมือนกับเราวิ่งไล่คว้ามันน่ะ วิ่งไล่จับ

ปรับสติให้มันสมดุล ให้มันพอดี ให้มันเป็นกลาง ...อย่าไปจดจ่อเอาจริงเอาจัง เพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์นั้น ไม่ให้เกิดอารมณ์นี้ขึ้นมา ...มันเป็นความปรารถนาลึกๆ ของเราที่จะไม่ยอมให้ปรากฏอารมณ์ที่เราว่าไม่ดี 

ใช่ไหมล่ะ ที่ตั้งใจมาปฏิบัติแต่ละคนนี่น่ะ จะเอาแต่จิตดีกลับไป จิตไม่ดีเอามาทิ้งแต่เราบอกให้เลย กลับไปก็เหมือนเดิม เดี๋ยวก็คืนเดิม


โยม –  ถ้าเป็นครูก็จะเจอลักษณะเดิม กับนักเรียน  

พระอาจารย์ –  เหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วจิตเราจะดีขึ้น หรือว่าหายจากอาการพวกนี้ เข้าใจมั้ย ว่ามันแก้ไม่ได้

สภาวะรูปนามตามความเป็นจริง มีการกระทบ...เป็นธรรมดานะนี่ เราไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูกเลยนะ แต่พระพุทธเจ้าบอกว่านี่คือความจริงต่างหาก แต่เราจะไปแก้ความจริงได้อย่างไร แก้ไม่ได้

เมื่อแก้ไม่ได้ก็ยอมรับซะ แล้วจะเห็นว่าความจริงนั้นน่ะ มันแปรเปลี่ยนไป มันไม่อยู่หรอก ...อย่าไปเดือดร้อนกับมัน อย่าไปคิดว่ามีอะไรที่ดีกว่านี้

เคยอ่านหนังสือปฏิบัติธรรม หรือได้ยินเขาว่าปุ๊บนี่ เราจะวาดฝันเลยว่า...จิตนี่จะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ...นั่น มันเริ่มสร้างเงาขึ้นมาให้จับแล้ว

เพราะนั้น นักปฏิบัติเลยกลายเป็นปฏิบัติเพื่อให้ได้อะไรขึ้นมา เพื่อให้เปลี่ยนแปลง เหมือนกับโยมจะเปลี่ยนโลกให้มันเป็นไปในเงื้อมมือของโยม

ถามว่าทำได้มั้ยล่ะ ...มันทำไม่ได้หรอก เหนื่อย  แล้วก็ทำไปทำมา จะท้อด้วย มันจะท้อ รู้สึกไหมว่าการปฏิบัติแล้วมันท้อ มันไม่ได้ดังเป้าซะทีน่ะ  

ยิ่งไปได้ฟังคนนั้นคนนี้เขาพูดสภาวะ หูย หน้าตื่นตาตื่น ฟังแล้วมานั่งเปรียบเทียบกับตัวเอง ตัวเราเหมือนกับกบในกะลา ตัวเราเหมือนกับไม่มีวาสนาบารมีเหมือนเขา ...ทุกข์ขึ้นไปอีก

แต่ถ้าเรายอมรับสภาวธรรมตามความเป็นจริง คือรูปนามปรากฏอย่างไรก็รู้ไป รู้เบาๆ รู้ง่ายๆ รู้ธรรมดา มันจะซ้ำซากขนาดไหนก็รู้มันเข้าไปเถอะ ...จิตมันก็จะเริ่มเข้าใจกระบวนการของรูปและนามเอง

ไม่ใช่เราไปทำให้มันเข้าใจ ...มันจะเข้าใจด้วยตัวมันเอง เรียกว่าเป็นปัจจัตตัง ...ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปหาความรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจอะไรขึ้นมา 

ทั้งด้วยการไปพิจารณา หรือไปจดจำสภาวะใดสภาวะหนึ่ง แล้วก็ตั้งขึ้นมาเป็นมาตรฐาน หรือว่ากฎเกณฑ์ แล้วก็วิ่งเข้าสู่เป้านั้น ถือว่าเข้าเป้าหรือว่าได้ผล

เพราะนั้นการปฏิบัติธรรมไม่ใช่อย่างนั้น การปฏิบัติธรรมคือการกลับมาเรียนรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง...ยังไงอย่างงั้น ฟุ้งซ่านทั้งวันก็ต้องรู้ว่าฟุ้งซ่านทั้งวันแหละ ไม่ต้องแก้เลย

ต้องยอมรับกับทุกข์นั้นๆ เลย...ทุกอย่าง แค่นั้นเอง ...แล้วจะเห็นว่า มันฟุ้งซ่านทั้งวัน แต่ว่ามันก็ไม่ฟุ้งซ่านทั้งปีน่ะ มันไม่ฟุ้งซ่านทั้งปีแล้วมันไม่ฟุ้งซ่านตลอดชีวิตด้วย

เออ นั่นน่ะ มันถึงจะเข้าใจ ว่าเราชนะอะไรมันไม่ได้หรอก ...แต่ตัวของเขาเอง เขาเกิด เขาดับ เขาแก่ เขาเสื่อม...ในตัวของเขาเองอยู่แล้ว

ไม่ใช่เราไปทำให้เขาเกิดแก่เจ็บตายด้วยอำนาจหรือบารมี หรือว่าอิทธิพลของการปฏิบัติของเรา ไปทำให้อำนาจพวกนี้มันดับไปสลายไปได้ หรือว่าตั้งขึ้นมาได้ดั่งใจเราปรารถนา...ไม่ใช่

เราไม่ได้ฝึกให้ตัวเราเก่งกว่าสภาวธรรม ไม่ได้ให้ตัวเราเก่งกว่ารูปนาม ...ถ้าอยากเก่งกว่ารูปนาม นู่น ไปเรียนกับฤาษี พวกแก้กรรม พวกอยู่กับอมตะเหนือกรรมเหนือเวร อะไรอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เหนืออะไร ...แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า ทุกสรรพสิ่ง ทุกรูปนามตกอยู่ใต้อำนาจของกฎไตรลักษณ์หมดเลย อย่าเผยอออกนอกกฎไตรลักษณ์ เดี๋ยวจะเป็นทุกข์ เดี๋ยวสัตว์โลกจะเป็นทุกข์

มันทุกข์ มันรบราฆ่าฟันกันนี่ เพราะมันคิดว่ามันอยู่เหนือกฎของไตรลักษณ์ เพราะมันคิดว่าเราทำให้มันเที่ยงได้ เพราะเราคิดว่าถ้าทำอย่างนี้ๆๆ ฆ่าคนที่มีความเห็นไม่เหมือนเราหมดปุ๊บ เราจะรักษาความเห็นนี้ได้

มันก็เกิดการขัดแย้ง ดิ้นรน ขวนขวาย เห็นแก่ตัว เห็นแก่สภาวะที่มันต้องการให้มันตั้งอยู่ไม่รู้จักจบ ...เนี่ย คือมันจะพยายามเหนือกฎไตรลักษณ์นั่นแหละ

นักปฏิบัติธรรม...เริ่มต้น พอเริ่มต้นก็ยังไม่เข้าใจ ก็พยายามจะสร้างสภาวะจิต สภาวะใดสภาวะหนึ่งขึ้นมา เพื่อจะให้มันเป็นอมตะหรือว่าคงอยู่ หรือว่าดีอยู่ตลอดเวลา

แล้วก็เข้าใจว่า นั่นน่ะใช่แล้ว ได้แล้ว ได้ผลแล้ว ...ก็ไม่ใช่อีก เพราะสภาวะที่แท้จริงคือควบคุมไม่ได้ แล้วมันยอมรับได้ในทุกสรรพสิ่งที่มันจะแปรเปลี่ยน

การปฏิบัติไม่ได้เอาอะไร ไม่ได้ได้อะไรขึ้นมาเลย ...สิ่งที่ได้มีอย่างเดียวคือรู้เห็นตามความเป็นจริง ในทุกอาการที่ปรากฏ โดยที่เราไม่เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย


โยม –  ถ้าอย่างนั้นก็คือการปฏิบัติของที่ปฏิบัติมา ก็มีหลงทางบ้าง 
 
พระอาจารย์ –  ไม่ได้เรียกว่าหลงทาง แต่เรียกว่าทิฏฐิมันยังไม่ตรง เข้าใจมั้ย เหมือนกับเรามอง...พระพุทธเจ้าสอนว่า มองอยู่ตรงนี้ แต่เราไปมองแบบอย่างนั้น เข้าใจมั้ย

คือมองผิดทิฏฐิ ไม่ได้เรียกว่าผิด หรือว่าไม่ถูกนะ ...แต่ว่าความเห็นน่ะ มันจะพาให้เรามีการปฏิบัติที่ออกนอกสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เข้ามาเป็นกลางกับมัน

เพราะนั้นว่า เมื่อฟังที่เราพูดทั้งหมดนี่...คือการปรับทิฏฐิ หรือว่าปรับความเห็น ให้มันตรงตามธรรม ให้เห็นธรรมตามความเป็นจริง ด้วยการปรับความเห็นให้มันตรงก่อน

ถ้าความเห็นตรงแล้วนี่ เราจะเข้าใจมากขึ้นว่า เราจะวางจิตอย่างไร วางตัวอย่างไร ...มันจะเทียบได้กับที่เราเคยทำเคยปฏิบัติมา ว่ามันไม่ใช่ยังไง มันจะปรับความเห็นให้

จนไม่ไปสร้างเงื่อนไขกับสภาวะที่ปรากฏต่อหน้าเรา ไม่มีอาการที่เรียกว่า “รับไม่ได้” น่ะ เข้าใจมั้ย คือรับได้โดยไม่ปริปากเลยน่ะ ...นั่นแหละ นั่นคือสติที่เป็นกลางจริงๆ

คือไม่ใช่ว่า ไอ้นี่ก็ เอ๊ะ ไอ้นี่ก็ อึ๊ ไม่ใช่ ...คือรับด้วยความสงบตั้งมั่น เป็นกลาง คือไม่ปริปาก ไม่บ่น ไม่ไปมีปัญหากับมันน่ะ ...อย่างนั้นน่ะ ถึงเรียกว่าปรับให้มันตรงขึ้น

สติมันจะตรงขึ้น เป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่มีเงื่อนไขได้ ...หายไปก็รู้ใหม่ หลงไปตามรูปเสียงภายนอก รูปนามภายนอก  มันก็มีโอกาสที่จะหลงที่จะหายไปกับรูปนามภายนอก...เป็นธรรมดา


(ต่อแทร็ก 1/28  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น