วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/30 (1)


พระอาจารย์
1/30 (25530523B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  4  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ขายของก็รู้จิต รู้อาการทางกายได้ ...รู้ตัวไป ดูไป ดูอาการทางกายไป  ยิ่งขยับเคลื่อนไหวเยอะๆ ยิ่งเห็นกายได้ชัด

แต่ว่าจิตที่กระวนกระวาย หรือเวลาคนเยอะๆ พลุกพล่าน หรืออะไร ...ก็ให้เห็นความดิ้นของจิต ความกระสับกระส่าย กังวล กลัว วิตก มันจะเกิดขึ้นขณะที่กำลังสับสน...ให้เท่าทัน

ไม่ต้องไปแก้ ไม่ต้องไปเปลี่ยนอะไร กลับมาดู กลับมารู้ เห็นกายไม่ชัด เห็นกายไม่นิ่ง หรือว่าไม่นิ่งกับอาการทางใจได้  ก็ให้มานิ่งโดยรู้กายเห็นกายเป็นธรรมดา

ต่อไปก็จะเห็นความธรรมดานี่แหละ ทั้งกายและจิต ควบคู่กัน สลับไปสลับมา แล้วก็ไม่ได้อะไรหรอก ดูตลอดเวลานี่ก็ไม่ได้อะไรหรอก ...จิตก็เท่าเก่าน่ะ กิเลสก็เท่าเก่า

แต่ว่าความเข้าไปให้ความสำคัญกับกิเลส หรืออาการทางจิตมันน้อยลง อันนั้นต่างหาก ไม่ใช่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้ แต่มันเข้าไปละความหมายมั่นในอาการได้

การเข้าไปละความให้ค่าในอาการนั้นๆ ในอาการทางกาย อาการของเวทนาทางกาย ในอาการของจิตในเวทนาทางจิต มันจะเข้าไปลดการให้ค่าในสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าอาการเขาก็ยังมีตามอาการ

การปฏิบัติธรรมนี่มันใกล้ตัวเราจนคนเรามองข้าม ...ไปมองไกลเกินไป ไปมองให้มันซับซ้อนเกินไป ไปมองให้กลายเป็นของวิจิตรพิสดารเกินไป ไปมองให้เป็นของที่ต้องห้ามเกินไป

เป็นการมองแบบเห็นว่าเป็นของเฉพาะกลุ่มเกินไป มองว่าธรรมเป็นเรื่องของบางคนบางท่านเท่านั้น เป็นของที่สูงเกินไป เป็นของที่คนเดินดินกินข้าวแกงจะสัมผัสไม่ถึง กลายเป็นของที่มัน untouchable ไปแล้ว


โยม –  รูปแบบด้วยรึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  รูปแบบ...แล้วก็ความเชื่อ การสร้างความเชื่อขึ้นมาด้วยการเคารพธรรมเกินไป เคารพรูปแบบของการเป็นธรรมเกินไป

มันเลยเกิดความที่เรียกว่าเป็นทิฏฐิต่างๆ นานา  ความเห็นต่างๆ นานา พวกนี้ ...เพราะความเห็นหรือว่าทิฏฐิต่างๆ นี่ มันจะเป็นตัวครอบงำความเป็นจริงทันที

ถ้าเราไม่ละความคิดความเห็น ความเชื่อเช่นนั้นออกแล้วนี่ เราจะไม่เห็นใจที่แท้จริงเลย เราจะไม่เห็นกระบวนการของใจที่แท้จริงเลย เราจะไม่เห็นกระบวนการกิเลสที่แท้จริงของเราเลย

ถ้าเราไม่คลายความเห็น ละความเห็นต่างๆ นานาที่มัน..ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ไอ้นั่นก็ต้องอย่างงั้น ไอ้นั่นก็ต้องอย่างงี้ นี่ มันก็ถูกปกปิดห่อหุ้มด้วยความเห็นต่างๆ นานา

ถ้ายังละไม่ออก หรือว่าให้ค่ากับความเห็นความคิดเช่นนั้นแล้ว ...เราก็จะมัวเมากับความคิดความเห็นนั้นอยู่ตลอด กลายเป็นความหลงมัวเมา ยึดมั่นถือมั่น

ความมัวเมาเช่นนั้นมันก็มาปิดบังความเป็นจริงของใจ หรือว่าความเป็นธรรมชาติของใจ หรือความเป็นธรรมชาติของการที่มันจะแสดงอาการต่างๆ ออกมาตามความเป็นจริง

การสอนธรรม การเรียนรู้ธรรม ก็เลยถูกสอนด้วยการที่ปกปิดธรรม ดูเหมือนปกปิดธรรมกันอยู่ ...ยังไม่ถึงขั้นยังไม่ถึงเวลาก็ห้ามบอกห้ามสอน อะไรประมาณนั้น

ทั้งๆ ที่ว่าธรรมเขาก็แสดงอยู่ทนโท่ในปัจจุบัน กายเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไรในปัจจุบัน นี่ คือธรรมตามความเป็นจริง


โยม –  ก็คือคนสื่อเข้าไม่ถึงธรรมมากกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นน่ะ การปฏิบัติธรรมคือการกลับมาเห็นความเป็นจริงของปัจจุบันกายใจ  จึงเห็นธรรมรู้ธรรมในปัจจุบันได้ ...ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเพื่อหาธรรม หรือหนีธรรม

ส่วนมากมันหนีธรรม คือหนีทุกข์ แก้ทุกข์ ไม่ยอมรับทุกข์ ...เวลาทุกข์ใจก็หนีจังเลย บนบานศาลกล่าว หรือไปทำบุญสะเดาะเคราะห์อะไร เพื่อให้ทุกข์มันคลายโดยเร็ว มันหนีทุกข์กันอย่างนั้น

ไอ้หนีทุกข์ตรงนี้คือหนีธรรมแต่ถ้าเรายอมรับทุกข์ด้วยอารมณ์ปกติ ด้วยอาการปกติ หรือสงบสันติ ตรงนี้เราจะเห็นธรรมตามความเป็นจริง แล้วจะเห็นธรรมที่สูงขึ้นต่อไป

คือเห็นว่า ถ้าทนมัน ดูกับมันเฉยๆ ไม่ไปยุ่งอะไรกับมัน เดี๋ยวมันก็ดับไปเอง แค่นั้นเอง เห็นมั้ย ปัญญาก็จะเริ่มพัฒนาขึ้น ยอมรับขึ้น

อายุขัยมันมีอยู่แล้ว มันถูกกลืนกินด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปช่วยกินมัน เราไม่ต้องไปช่วยทำลายมัน เราไม่ต้องไปทำให้อายุขัยมันสั้นลง หรือเราไม่ต้องไปต่ออายุขัยให้มัน

อายุขัยของเขา การตั้งอยู่ของเขา มันขึ้นหรือเนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เนื่องด้วยเรา ไม่ได้เนื่องด้วยใคร ไม่ได้เนื่องด้วยความปรารถนา หรือไม่ปรารถนาของใคร ...แต่มันมีเหตุปัจจัยในตัวของมันเอง

เช่นตัวของเราจะตายเมื่อไหร่ มันมีปัจจัยของมันอยู่แล้ว อายุขัยของตัวกายของเรา ...มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แก้ไม่ได้ เรามีหน้าที่อย่างมากได้แค่ประคับประคองมันไป แค่นั้นเอง

จะให้มันดับตอนนี้ มันก็ไม่ดับ มันก็เหมือนกับอารมณ์ที่ปรากฏในจิตน่ะ จะให้มันดับตอนนี้ มันก็ไม่ดับให้หรอก ก็เหมือนกันน่ะ เหมือนกายนี่ ไม่อยากได้กาย อยากให้กายนี้ดับ มันก็ไม่ดับ

เพราะนั้นไม่ใช่ว่าดูแล้วต้องดับได้นะ มันดับหรือไม่ดับไม่ใช่เรื่องของเรา ...เพราะนั้นหน้าที่ของเรามีแค่รู้เฉยๆ กับสิ่งที่ปรากฏนั้นๆ แค่นั้นเอง ในเบื้องต้น

แต่ว่าเมื่อรู้ทันเห็นทันมากขึ้นแล้วในอาการที่ปัจจัยแรกที่มันจะขึ้นมา หรือรวมตัวในการเกิดสังขารจิต สังขารธรรมภายในขึ้นมา ...ตรงนั้นน่ะ ถึงเรียกว่าเข้าไปเห็นจุดเริ่มต้นกับจุดสุดท้ายเป็นจุดเดียวกัน

ณ ที่ตรงนั้นไม่เรียกว่าเป็นอารมณ์  ณ ที่ตรงนั้นไม่เรียกว่าทุกข์  ณ ที่ตรงนั้นไม่เรียกว่าสุข  ณ ที่ตรงนั้นไม่เรียกว่ารูป  ณ ที่ตรงนั้นไม่เรียกว่านาม 

ณ ที่ตรงนั้นไม่เรียกว่าอะไรหรือไม่อะไรเลย  ณ ที่ตรงนั้นมันไม่มีทั้งรูปและนาม และมันก็ดับไปในที่อันเดียวกันนั้น ...ตรงนั้นต่างหาก ถึงจะดับในที่อันเดียวกัน

แต่ถ้าเรามาเห็นตอนที่มันเป็นรูปเป็นนามแล้ว มันก็เหมือนกับมันเป็นรูปแล้ว...ยังไม่ดับหรอก ถ้าจะดับรูปตรงนี้ โยมก็ต้องเห็นตั้งแต่มันเป็นอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ ระหว่างนั้นน่ะ มันจะไม่มีรูปได้เลย ใช่มั้ย

แต่ถ้ารวมมาแล้วนี่...จะดับมัน ดับไม่ได้แล้ว เข้าใจมั้ย มันก็ดำเนินไปตามอายุขัยของมัน ตามเหตุปัจจัยของกรรมและวิบาก เหมือนกัน

เพราะนั้นการที่จะเห็นความดับไปของมันได้ ต้องเป็นสัมมาสติ หรือว่าเห็นขณะแรกที่เกิด หรือเห็นอาการแรกของการเกิดขึ้นมาของจิต หรือการผุดขึ้นของจิต 

ที่มันถูกสิ่งเร้า ทั้งภายนอกคือตาหูจมูก รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส โผฏฐัพพะ...พอมันเร้าปุ๊บ มันเกิดปฏิกิริยาตอบกลับแรก ...ตรงนั้นน่ะ ท่านเรียกว่าสัมมาสติ หรือมหาสติปัฏฐาน มันจะเกิดตรงนั้น

แล้วเป็นภาวะที่เกิดเอง ...ไม่มีการจงใจ ไม่มีการตั้งใจให้เกิด ไม่มีการตั้งใจให้ทำ ไม่มีการว่าระวัง คอยดูสังเกตเท่าทัน แล้วมันจะเกิด...ไม่ใช่ ...มันเกิดเอง ทันเองเลย


โยม –  จิตก็จะทันทันที

พระอาจารย์ –  ทันทันที ...ยังไม่ทันเป็นอะไร ยังไม่ทันรู้ว่าเกิดอะไร ยังไม่เรียกว่าเป็นอารมณ์ใด ยังไม่รู้เลย มันดับไปแล้ว อย่างนั้นน่ะ ...เพราะนั้นจุดเกิดกับจุดดับ ถ้าตรงนั้นก็เรียกว่าเป็นที่เดียวกัน


โยม –  ถ้าถึงภาวะนั้นแล้ว เบื่อไหมคะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ก็เหมือนเดิม ก็ยังเฉยๆ เห็นเรื่อยๆ เห็นหลายๆ ครั้ง เห็นหลายๆ ครั้ง


โยม –  แล้วมันจะเจริญไปกว่านี้ไหมคะ

พระอาจารย์ –  เจริญที่สุดก็แค่นี้ คือ...จุดนี้คือจุดตั้งต้นและก็จุดจบ ...แต่ว่าครั้งเดียวไม่พอ บ่อยๆ ซ้ำซาก ต้องเกิดอารมณ์อย่างนี้ซ้ำซาก

ปัญญาก็เกิดซ้ำซาก ญาณทัสสนะก็ต้องเห็นอย่างนี้ แล้วมันจะแจ้งขึ้น แจ้งขึ้นไปเอง ...เพราะในการเห็นอย่างนี้ มันจะเข้าไปทำลายถึงอาสวะภายใน ทำลายความเห็นผิดภายใน

เพราะอะไร ...เพราะมันเห็นความไม่คงอยู่ของทุกสรรพสิ่งในขณะนั้น หรือว่าเห็นความเป็นอัตตาอุปาทานดับไป...ขณะแรกที่จิตจะเกิดน่ะ นั่นน่ะคืออัตตาอุปาทาน

ซึ่งมันรวมหมด คำว่าอัตตาอุปาทานนี่ คือรวมขันธ์ทั้งหมดที่เป็นอุปาทาน คือตัวตน ...แต่ไม่ใช่ตัวเรานะ คือตัวตนหนึ่ง การเกิดตัวตนครั้งแรก...จะดับ

เพราะนั้น ความเห็น ปัญญาที่เห็นการดับไปของอัตตาตัวแรก มันเข้าไปดับถึงอัตตาอุปาทานภายใน คืออาสวะเลย เข้าไปดับถึงขั้วที่มันหมักหมมอยู่ภายใน

แต่ว่ามันเป็นแค่ขณิกะ ...เห็นครั้งเดียวไม่พอ สัมมาสติครั้งแรกไม่พอ ก็ซ้ำซากอยู่ตรงนั้น ...แล้วก็ปัจจัยอะไรล่ะที่ทำให้เกิดสัมมาสติ คือการปกติรู้ มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้นี่ รู้แบบเฉยๆ เป็นกลาง

รู้แบบไม่เข้าไปข้องเกี่ยว รู้แบบไม่ไปเพิ่มไม่ไปลด รู้แบบไม่ไปห้าม รู้แบบไม่ไปประคอง ไม่ไปรักษา รู้แบบไม่เสียดาย รู้แบบไม่หวงแหน อย่างเนี้ย คือรู้เป็นกลางๆ ...นี่เรียกว่าเจริญมรรคอยู่


(ต่อแทร็ก 1/30  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น