วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/30 (3)


พระอาจารย์
1/30 (25530523B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/30  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  แต่ในขณะนี้ มีหน้าที่อย่างเดียวคือ ไม่ก่อเกิด ไม่ต่อเนื่อง ไม่ให้กำลังกับมันเพิ่ม ...เพราะนี่คือผล...รับมันไป แต่ว่าไม่ให้ความแข็งแกร่งกับความเห็นนี้ให้มันอยู่ได้

หรือว่ายิ่งไปคิดให้มันเกิดความมั่นคงในความเชื่ออย่างนี้มากขึ้นๆ ...นั่นแหละมันคือการสะสมความหนาแน่นของมิจฉาทิฏฐิมากขึ้นๆ

กับการที่ว่า มันยังอยู่อย่างนี้ก็อยู่ อยากเชื่ออย่างนี้ก็เชื่อ...มันแก้ไม่ได้แล้ว มันเป็นผลที่เราต้องเสวย จากการหลงคิดขึ้นมา ...แล้วมันก็จะค่อยๆ มีอายุขัยของมันเอง

แต่ต้องอดทนต่อความคิดที่จะไม่ต่อกับมัน กับความเห็นนี้ ...แล้วมันจะอยู่ไม่ได้


โยม –  ใช่ เหมือนอย่างที่พระอาจารย์บอก อย่างโยมดู บางทีวันเวลาที่ผ่านไปนี่ เราหวนไปคิดถึงสิ่งที่เราเคยเชื่อในอดีต มันเปลี่ยนไป

พระอาจารย์ –  อือ ความเห็นมันไม่เที่ยง... ก็บอกแล้วไง แต่ก่อนคิดไม่รู้กี่แบบ ปฏิบัติก็มีความเชื่อไม่รู้กี่ครั้ง ก็ยังเปลี่ยน เอาแน่กับมันไม่ได้

แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือตรงรู้แล้วไม่มีอะไร กลับมาสู่จุดเดียวกันหมด ในทุกสิ่งทุกอย่าง กลับมาอยู่ที่เป็นปกติธรรมดา ที่ไม่ได้ทำ ไม่ได้มี ไม่ได้เป็นอะไร เดี๋ยวนี้ปัจจุบัน ...นี่คือหลัก นี่คือฐานที่ตั้งของมรรค

ไม่ใช่ตามความเห็นออกไป หรือสร้างความเห็นใหม่ขึ้นมา อย่าไปอยาก ...เพราะไอ้ความโลภ โลภะไม่รู้จักพอนี่ มันจึงไปสร้างความเห็นความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดสีสันขึ้นในจิต

มันเป็นสีสันนะ วับๆ แวบๆ หูย มันเทิดทูน เอาความเห็นเป็นสรณะ ...พระพุทธเจ้าบอกให้เข้าถึงไตรสรณคมน์เป็นสรณะ...กูไม่เอา กูจะเอาความเชื่อของกูเป็นสรณะ

ด้วยการพิจารณาไปเรื่อยเปื่อย คิดไปตามตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ประมวลไปประมวลมา จับแพะชนแกะ เหมือนเราตำส้มตำ ใส่มะนาวสองซีก ปูสามตัว รสชาติมันควรจะเป็นอย่างนั้น 

นี่ เติมปลาร้านิดหน่อย น่าจะดี เอ้า น้ำปลา เอาแล้วนี่ ตำๆๆๆ ใส่จานกิน ...เออ พอใจ อร่อย ทำมากับมือๆ ...เนี่ย คือสังขาร ความปรุงแต่ง 

ทำเอง กินเอง ตัดสินเอง...อร่อยว่ะ เออ ยังไม่พอ ดันเอาไปให้คนอื่นกิน เขาก็ว่า...แหวะ เอาตีนตำรึไง ...นี่ ชกมันตรงนั้นเลย ว่ามันเห็นผิด ...แต่ผิดทั้งคู่ บอกให้เลย

ใครให้มึงตำ มะนาวก็อยู่ส่วนมะนาว มะละกอก็อยู่ส่วนมะละกอ  ถ้าไม่มีใครไปหยิบไปจับมารวมกัน ตำกัน มันไม่มาชกกันหรอก ใช่มั้ย ...เพราะนั้นมันผิดที่มึงนั่นแหละทั้งคู่ จะมาเอาถูกเอาผิดอะไร

ถ้าธรรมชาติที่แท้จริง ความจำส่วนความจำ ความรู้สึกส่วนความรู้สึก อดีตคืออดีต อนาคตคืออนาคต ...นี่ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างมี ไม่ได้เกี่ยวกันเลย

เวทนาส่วนเวทนา กายส่วนกาย ขันธ์ส่วนขันธ์ ความจำส่วนความจำ เขามีอยู่แล้ว ...ไอ้ “เรา” นี่อยู่ไม่สุข เอาขันธ์ทั้งห้ามายำรวมกัน เหมือนตำส้ม แล้วแต่ใครจะเอาอะไรมาใส่น่ะ เห็นมั้ย

เอาความจำในส่วนนั้นมา เอาความคิดถึงข้างหน้าในส่วนนั้นมา เอาความรู้สึกเวทนาในส่วนอดีต แล้วคาดเอาข้างหน้า แล้วก็เอารูปของบุคคลนั้นๆ หน้าของคนที่ไม่ชอบมาผสมตำกัน ออกมาเป็นรสชาตินึง

นี่ถูกๆๆ ...ถูกปากกูนะ ไม่ถูกปากคนอื่น กูไม่รู้ ...แต่ไปแบ่งให้เขากินแล้วก็ยัดเยียดว่ามึงต้องกิน แล้วมึงต้องบอกว่าอร่อย  ถ้ามึงบอกว่าอร่อย มึงมันพวกนี้ ถ้ามึงบอกว่าไม่อร่อย มึงมันพวกนั้น 

เห็นมั้ย มันเกิดการแบ่งแยกอย่างนี้นะ ...ถามว่าใครผิด บอกให้เลย ผิดทั้งคู่ ...อยู่ดีไม่ว่าดี จับเรื่องไม่เป็นเรื่องมาให้เป็นเรื่อง ขันธ์เขาก็อยู่ส่วนขันธ์ เขาก็อยู่อย่างนี้ไม่มีอะไร ความจำคือความจำ

ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน มันจะจำอะไรได้ก็ช่างมัน คนนั้นคนนี้ร้อยแปดพันเก้า ...ก็เป็นความจำได้หมายรู้ รูปมันก็ดับไปตรงนั้น ความรู้สึกเวทนาปกติธรรมดา ก็มีแค่นี้

ไม่ต้องไปสร้างเวทนาใหม่ ความรู้สึกใหม่ๆ ขึ้นมา หาว่าเราจะต้องเข้าไปเสพกับมัน เห็นมั้ย ต่างคนก็ต่างอยู่ มันมีเรื่องอะไร มันมีความคิดความเห็นอะไรเกิดขึ้นมั้ย

แต่ธรรมชาติของจิตที่ไม่รู้ ธรรมชาติของจิตที่ยังมีกิเลสเจือปน มันจะไม่อยู่เฉยหรอก...อยู่ดีๆ ได้สักพักหนึ่ง เดี๋ยวมันก็เอาแล้ว แกว่งตีนหาเสี้ยน แกว่งปากหาลูกมะกุ๋ย อะไรประมาณนั้น

มันอยู่บ่ได้ ต้องฆ่ามันๆ สุดท้ายก็ถูกฆ่า แล้วก็ถูกเอาคืน ...ความจองล้าง มันไม่มีทางยุติ การกระทำไม่สามารถจะยุติได้ไม่ว่าฝ่ายไหน  ในโอกาสนี้ฝ่ายนี้ถูกกระทำ โอกาสหน้าก็มีที่ฝ่ายนั้นจะถูกกระทำ ใช่ไหม

มันจะสลับกันไป แล้วแต่เหตุปัจจัย มันจะเมื่อไหร่หรือว่าชาติไหน  ถามว่ามันจะหาความจบสิ้นได้ไหม ...แต่นี่แหละ คุณเกิดมาแล้ว โยมเกิดมาแล้ว ก็ต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้ เป็นธรรมดา

เพราะนั้นถ้าเรารู้จักความเท่าทัน หรือว่ารู้เท่าทันการปรุงแต่ง ...รู้เท่าทันเมื่อไหร่ปุ๊บ มันจะหยุดการปรุงแต่งได้ในระดับหนึ่ง จนถึงที่สุดของมัน ก็จะไม่มีการไปปรุงแต่งอะไรเพิ่มขึ้น

ก็จะเหลือความปรุงแต่งของขันธ์...ตามเท่าที่มันจะมี เท่าที่มันจะเป็น ...เพราะว่าขันธ์น่ะมันมี ธรรมชาติของขันธ์มันมีอยู่แล้ว สัญญา เวทนา หรือสังขาร

มันก็ปรุงเป็นเรื่องธรรมดาที่อยู่ปกติกายวาจา เข้าใจมั้ย ...มันก็ต้องมีความคิดน่ะ วันนี้จะต้องทำอะไร จะต้องมีกิจการงาน มันก็ต้องมีความคิดความจำ

ซึ่งมันก็อยู่ในแวดวงที่เพื่อการใช้ชีวิตอยู่แค่นั้นเอง เป็นความปรุงแต่ง มันมีอยู่แล้ว...ไม่ได้ผิด ไม่ได้ถูกนะ ...แต่มันจะไม่ไปปรุงแต่งนอกเหนือจากนี้

ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นการต่อเนื่องไม่รู้จักจบ หรือว่าเป็นการให้ได้มาเพื่อกุศลหรืออกุศลใดๆ หรือว่าเพื่อให้ได้ความสุขหรือเวทนาใหม่ที่มันต้องการ

เพราะนั้นมันก็จะกลับคืนมาเป็นปกติธรรมดาของขันธ์ เพื่อการประคับประคองวิบากขันธ์อันนี้ ให้อยู่รอดถึงห้าหกสิบเจ็ดสิบแปดสิบปีตามอายุขัย ...นี่ เพื่อบรรเทาทุกข์

เพื่อให้กอบัวนี้มันเป็นที่แห่งการเรียนรู้ธรรมได้มากขึ้น ไม่ถึงกาลเวลาก่อน นั่นน่ะคือการใช้ชีวิตอยู่เพื่อความเป็นปกติ เพื่อให้มันกลับมาเรียนรู้ธรรมได้ ...เขาให้เราเกิดมาเพื่อจุดประสงค์นี้

ไม่ใช่เพื่อให้เกิดมาห้ำหั่น “ฆ่ามันๆๆ” กับผู้ที่คิดเห็นไม่ตรงกัน ...ไร้สาระสิ้นดี ตายแล้วก็เข้าเตาเผาเหมือนกันหมด ตายเหมือนกันหมด เผา ไม่ว่าฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ กลายเป็นเถ้าธุลี

กลับคืนสู่ดินเดียวกัน กลับคืนสู่ความไม่มีไม่เป็นเหมือนกัน ใช่มั้ย ...แต่ตอนอยู่นี่เอาเป็นเอาตายกันอยู่นั่นน่ะ ไม่รู้จักเข็ดหลาบ ไม่รู้จักเบื่อหน่าย ไม่รู้จะเอาชนะไปเพื่อให้ได้อะไรขึ้นมา

มันไม่รู้จักแพ้ ไม่รู้จักความพ่ายแพ้ มันไม่ยอมรับความที่ว่าเสียหน้าเสียตา นั่น มันอยู่กับความไม่มีตัวไม่มีตนทั้งสิ้นเลย ไม่มีอะไรเป็นสาระจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน


โยม –  ยึดสมมุติกันไงคะ

พระอาจารย์ –  มันก็คิดว่ามันฉลาด นักวิชาการ จบด๊อกเตอร์มาพูดๆๆๆ ฟังดู แล้วมันโง่ แล้วก็หลอกให้คนโง่ แล้วก็หลอกให้มีคนโง่เยอะขึ้นๆ

ให้เข้าไปร่วมกันทำอะไรที่ได้ผลลัพธ์ออกมาที่ไม่มีสาระอะไร แต่เข้าใจว่าเป็นสาระยิ่งใหญ่ ตั้งกันเป็นกรรมการ ตั้งกันเป็นผู้รับรองความถูกต้อง ไม่ถูกต้อง มากมายก่ายกอง

นี่คือสังคมมันเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ต้องพบเห็นเหตุการณ์อย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไร ที่จะเห็นมันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ไปยุ่ง แล้วก็ไม่ไปถูกมันดึงเราเข้าไปร่วม แค่นั้นเอง

พระพุทธเจ้าเพียรเหลือเกิน สร้างบำเพ็ญบารมีมาเกิดเพื่อจะวางแนววิธีให้...ว่าใช้ชีวิตอย่างไรที่จะอยู่กับโลกใบนี้ แล้วเป็นไปเพื่อความไม่กลับมาเป็น ไม่กลับมารับรู้กับไอ้เรื่องพวกนี้อีก

ก็คือมัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์แปด หรือมหาสติปัฏฐาน ๔  พวกนี้คือธรรมข้อเดียวกันหมด หรือการปฏิบัติลงในปัจจุบันกาย ปัจจุบันจิต แล้วก็ปัจจุบันธรรม

เพราะนั้นพูดให้สั้นๆ นี่ มันก็อยู่แค่เดี๋ยวนี้ ตรงนี้ ไม่ออกนอกนี้ ...โน้น ไม่เอา  นู้นน ไม่เอา  ออกนอก “นี้” ไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

แม้แต่อยู่ตรงนี้ มันก็จะเรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้ความไม่เที่ยง เรียนรู้อนัตตาเหมือนกัน ...เพราะ “นี้” ก็ไม่เที่ยง ปัจจุบันก็ไม่เที่ยง เห็นมั้ย พอดูไปดูมา แรกๆ ก็ยังอยู่กับ “นี้” หรอก

พออยู่กับนี้ไปอยู่กับนี้มา ไอ้ “นี้” นี่มันชักง่อนแง่น ...มันเริ่มเห็นล่ะว่ามันก็ไม่อยู่กับที่ สุดท้ายไม่มีแม้แต่ที่ให้หยั่งลงได้ ตรงนั้นน่ะ...จบ ไม่มีอะไรที่จะมาตั้งอยู่ได้แล้ว แม้แต่ในปัจจุบัน

ความรู้สึก ความคิดเห็น ความน่าจะ-ไม่น่าจะเป็น ความว่าต้อง-ไม่ต้อง ความว่าถูกว่าผิด ...มันเกิดขึ้น มันมีเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นมา มันก็ตั้งอยู่ แล้วก็พุ้บๆๆ หาที่ตั้งไม่ได้แล้ว ไม่มีอะไรรองรับให้มันตั้งได้แล้ว...อันนั้นน่ะพระอรหันต์

นี่ พระพุทธเจ้าอุตส่าห์พากเพียรพยายามมา เพื่อมาวางหลักการดำเนินวิถีชีวิต วิถีจิตให้...อย่างไรเพื่อเข้าสู่จุดนี้ การรู้จักใช้ชีวิตให้เป็นสาระที่ได้ประโยชน์สูงสุด ...ไม่ใช่สาระที่คนในโลกเขาว่าเป็นประโยชน์สูงสุด 

เพราะนั้น ไม่ประมาทธรรม ไม่ประมาทพุทธะ ไม่ประมาทธัมมะ ไม่ประมาทสังฆะ ...ผู้คนทุกคนอยู่ด้วยความประมาทธรรม ประมาทพุทธะ ประมาทคำสอนของพุทธะ ประมาทผู้ที่สั่งสอนตามคำพุทธะ 

แล้วสุดท้ายคืออะไร ...ก็เห็นกันอยู่ทุกวันแล้วนี่  ทุกชนชาติ ทุกประเทศ มีความสุขที่แท้จริงกันบ้างไหม มันมีแต่การเบียดเบียนกัน ทีใครทีมันนั่นน่ะ ใช่ไหม

ถ้าเราไม่ออกจากวิถีนี้ หรือยังไม่เรียนรู้วิถีพุทธหรือวิถีธรรม แล้วปฏิบัติตัวเองอยู่ในวิถีพุทธวิถีธรรม ...ก็จะได้กลับมา  Hello เจอกันใหม่ ...ถ้าเรายังผูก ในใจนี้ผูกกันไว้ ตรงนี้คือความผูกพัน ความพัวพัน

การให้ค่านี่แหละเป็นตัวก่อให้เกิดกระแสการผูกพัน เป็นอำนาจกรรม เป็นวิบากกรรมต่อเนื่องกันไป จนเป็นวิถีกรรมทั้งประเทศรวมกัน

แล้วก็ส่งผลออกมาให้เป็นอย่างนี้ ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ด้วยความเชื่อ ของแต่ละบุคคล ...แล้วมันมาพ้องกันในความเชื่อนั้นๆ มันก็เกิดเป็นอุปาทานหมู่ขึ้นมา

ถึงเวล่ำเวลาที่มันจะปรากฏแสดงผลออกมา ก็เป็นอย่างที่เราเห็น...สุขบ้างทุกข์บ้าง ดั่งใจเราบ้าง ไม่ดั่งใจเราบ้าง ดั่งใจกองเชียร์บ้าง ไม่ดั่งใจกองเชียร์บ้าง


(ต่อแทร็ก 1/30  ช่วง 4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น