วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/29 (3)


พระอาจารย์
1/29 (25530523A)
23 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/29  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  นี่ปฏิบัติมานานรึยัง

โยม –  กระท่อนกระแท่นค่ะอาจารย์


พระอาจารย์ –  แล้วทำไมลมหายใจมันไม่กระท่อนกระแท่นล่ะ ทีลมหายใจยังไม่กระท่อนกระแท่นเลย

โยม – (หัวเราะ) มันชอบเผลอตัวเองเจ้าค่ะ


พระอาจารย์ –  เผลอก็รู้ว่าเผลอ ห้ามเผลอไม่ได้

โยม –  ค่ะ ที่ผ่านมามันหลงโลกไปมากค่ะ อยู่กับสิ่งรอบกายมากไปหน่อย ให้ความสำคัญกับตัวเองน้อยไปหน่อย


พระอาจารย์ –  คน มนุษย์ ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้เรียนรู้ธรรม ของพระพุทธเจ้านี่ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนกบเฝ้ากอบัว

กบที่มันนั่งอยู่บนใบบัวแล้วก็อยู่กับกอบัว แต่ไม่รู้คุณค่าของบัวหรอก มันก็กระโดดไปโน่นมานี่ ไม่เห็นคุณค่าว่าดอกบัวนี่คือความหมายของพุทธะ ดอกบัวนี่เขาเอาไปบูชาพุทธะได้

ดอกบัวนี่เป็นที่ต้องการของมนุษย์ที่เขาเห็นว่ามีสาระมีคุณค่า ...เหมือนกัน เราได้กายวาจาจิตของเรามาเป็นมนุษย์นี่ แล้วมาเป็นมนุษย์คนไทย แล้วมาเป็นมนุษย์คนไทยที่ยังนับถือศาสนาพุทธ

แล้วยังมาเป็นมนุษย์คนไทยนับถือศาสนาพุทธที่ยังมีพระสอนอยู่ ในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่ความลัดตรงและถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าได้โดยตรง

ไม่ใช่เป็นคนที่ไปอยู่ในศาสนาไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้เป็นคนที่ไม่ได้ยินได้ฟังคำสอนของพุทธะเลยก็เห็นมั้ย โอกาสของเรามีอยู่แล้ว พร้อมอยู่แล้ว

แต่เรากลับมามองเห็นตัวกายวาจาจิตของเราเหมือนแค่กบเฝ้ากอบัว ...ไม่กลับมาอยู่กับกาย ไม่กลับมาเห็นความสำคัญของกายปัจจุบัน จิตปัจจุบัน

ถ้าอยู่กับกายจิตปัจจุบัน จะเห็นคุณค่าของกายจิตปัจจุบันนี่ เพราะมันเป็นตัวที่...มรรคก็อยู่ตรงนี้ ปัญญาก็อยู่ตรงนี้ นิพพานก็อยู่ตรงนี้


โยม –  คือหลักธรรมทั้งหมด

พระอาจารย์ –  ก็อยู่ตรงนี้ เข้าใจมั้ย ...แต่เราไม่เห็นคุณค่า


โยม –  แต่ก่อนเราไปแสวงหาข้างนอกไงคะ

พระอาจารย์ –  แม้แต่การปฏิบัติธรรมก็ยังไปหาตรงนู้น ไปเอาธรรมจากครูบาอาจารย์ ...ทิ้งตรงนี้ เหมือนกับกบเฝ้ากอบัว


โยม –  ไปเอาหลักนู้นหลักนี้

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเราหยุดหา หยุดทำ หยุดแสวงหา และกลับมาอยู่ตรงนี้ มรรคก็อยู่ตรงนี้แล้ว ธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ...กายปัจจุบันกับจิตปัจจุบัน

แต่เวลากลับมาอยู่ตรงนี้ แรกๆ ก็อาจจะขัดขืนหน่อยนะ ...มันไม่ม่วน มันไม่สนุก มันไม่มัน


โยม –  ค่ะ มันคุ้นเคย

พระอาจารย์ –  มันไม่เพลิดเพลินเท่าไหร่ มันเฉยๆ


โยม –  ตอนเริ่มมันยากอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ

พระอาจารย์ –  เพราะมันคุ้นเคยเพลิดเพลินกับอารมณ์ที่น่าใคร่ สนุกในการคุย เมามัน  สนุกในการที่ได้ไปทำอะไรแล้วเพลิดเพลินในการกระทำนั้นๆ มันคุ้นเคยกับอาการนั้น

พอหยุดทำ ไม่ไปทำ มาอยู่กับที่เห็นกายเห็นจิตซื่อๆ ทื่อๆ บื้อๆ ..."เบื่อว่ะ เซ็ง ...อยากได้อะไรที่ดีกว่านี้ หรือเห็นอะไรที่มันเจริญหูเจริญตากว่านี้" 

เนี่ย เหมือนกบเฝ้ากอบัวไหม ...คอยแต่จะหนีกายหนีจิตอยู่ตลอดเวลา ไม่เห็นคุณค่าของกายและจิตปัจจุบัน 

นี่แหละคือก้อนธาตุก้อนธรรม ต้นธาตุต้นธรรม อยู่ที่นี้ ...กลับประเมินค่ามันต่ำ กลับประเมินสภาวะที่เป็นกลาง เป็นปกติ เป็นธรรมดานี้ต่ำ เหมือนมองข้ามออกไป


โยม –  ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง

พระอาจารย์ –  เหมือนไก่เห็นพลอย


โยม –  ค่ะ นึกว่าเพชรอยู่ข้างนอก

พระอาจารย์ –  เพราะนั้น มีบางคำพูดที่เรียกว่า...ธรรมะ...นี่ อยู่ใกล้ ใกล้จนมองข้ามไป


โยม –  พระอาจารย์คะ อย่างเมื่อกี้ที่พระอาจารย์พูดไปนี่ การอยู่กับตัวเองแล้วก็เจริญมรรคกับตัวเองนี่ 

ถ้าเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเคยอยู่...อย่างเมื่อกี้พระอาจารย์บอกว่าแต่ก่อนเราไปแสวงหาข้างนอก ยกตัวอย่างเช่น เราพาตัวเองออกไปหาบุญ แสวงทำบุญตรงโน้นตรงนี้

เสร็จแล้วชีวิตพอตอนนี้มาอยู่กับตัวเอง มาเจริญมรรคกับตัวเอง ถามว่า อานิสงส์ที่ได้...คือมันเหมือนกับสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยนะคะ เราเคยไปวัด เราไปทำบุญกับพระสงฆ์อย่างนี้...กับการที่ไม่ทำอะไรเลยอยู่กับตัวเองอย่างนี้

พระอาจารย์ –  กลัวจะไม่ได้อะไร


โยม –  ค่ะ อยากได้คำตอบ

พระอาจารย์ –  กลัวจน


โยม –  กลัวจนบุญ

พระอาจารย์ –  โลภนะนี่ ...เห็นมั้ยว่าจิตโลภ


โยม –  (หัวเราะ) ใช่ค่ะ

พระอาจารย์ –  บารมีนี่ มีอยู่ ๓ ขั้น...นี่ ขั้นต้น ขั้นกลางเรียกว่าอุปบารมี... ทานขั้นต้น แล้วก็ทานขั้นอุปบารมี แล้วก็แม้แต่ทานก็ยังมีขั้นปรมัตถบารมี

ขั้นต้นก็เหมือนกับทั่วไป..ทำบุญ ...ถ้าอุปบารมีก็หมายถึง เอาตัวเข้ามาบำเพ็ญ


โยม –  อ๋อ อย่างที่ไปปฏิบัติธรรมกัน

พระอาจารย์ –  ปรมัตถ์ก็คือไม่ทำอะไรเลย ไม่หวังผลอะไรเลย


โยม –  อ๋อ โยมเห็นหมดค่ะ แต่โยมไม่เข้าใจว่าอันนี้คืออะไร

พระอาจารย์ –  ไม่เอาอะไรเลย แล้วไม่ได้อะไรเลย


โยม –  นี่เรียกว่าทานขั้นสูงสุด

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ...เพราะนั้นอานิสงส์เห็นผลทันตา


โยม –  โยมก็รู้สึกอยู่กับตัวเองแล้วมันเป็นอย่างนั้น ก็เลยคิดว่ามันผิดรึเปล่า

พระอาจารย์ –  การที่ไม่ได้อะไร ไม่มีอะไร นั่นคือผลที่ได้รับในปัจจุบันทันตาเห็น นั่นล่ะคือปรมัตถบารมี


โยม –  จากที่เราไปอยู่ข้างนอก ไปแสวงบุญข้างนอก มันเหมือนกับน้ำที่มันไม่รู้จักเต็ม

พระอาจารย์ –  แน่นอน มีล้านหนึ่ง แจก มันก็มารับหมดล้าน มีสิบล้านแจก มันก็มารับหมดสิบล้าน มีร้อยล้านแจก ร้อยล้านก็หมดไป มีเท่าไหร่แจกก็ไม่พอ ทานเท่าไหร่ไม่มีคำว่าเต็ม


โยม –  ใช่ ก็รู้สึกอย่างนั้น

พระอาจารย์ –  อานิสงส์ก็ได้ ไม่ใช่ไม่ได้  แต่มันไม่รู้จักพอ...ด้วยความโลภ


โยม –  โยมรู้สึกว่าสภาพทางจิตมันไม่เหมือนกัน

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นปรมัตถ์คือหยุดการกระทำ กลับมาอยู่ตรงนี้ในปัจจุบันธรรม ...บารมีทั้งสิบรวมลงอยู่เป็นปรมัตถ์ในที่อันเดียว


โยม –  เหมือนที่พระอาจารย์เทศน์ไปเมื่อกี้

พระอาจารย์ –  อือ กลับมาสู่ความโง่ ไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร แล้วก็ไม่เป็นอะไร แล้วแต่ว่ามันจะเป็นไปอย่างไร ...แล้วผลก็จะเกิดในปัจจุบันคือความปล่อยวาง มรรคผลก็จะปรากฏในปัจจุบันทันที

แต่ถ้ายังใช้ขั้นอุปบารมี หรือทำเพื่อให้ได้อะไรมา ก็เหมือนข้าวคอยฝน แล้วก็ติด ...การทำบุญ การปฏิบัติน่ะ เหมือนการติดสินบน ใช่มั้ย เหมือนการติดสินบน คอรัปชั่นน่ะ

ทำบุญสิบบาท จบอธิษฐานทีครึ่งชั่วโมง (โยมหัวเราะ) เอาโว้ย ชาติหน้ารวยๆๆ ทั้งที่มันสิบบาทนะนี่ มันเกินไปไหม เข้าใจมั้ย แล้วก็เอาไอ้บุญอย่างนี้ตั้งความหวังไว้เลิศหรู เลื่อนลอยเพ้อฝัน


โยม –  แล้วคนส่วนใหญ่ก็ไปวัดด้วยหวังอานิสงส์อย่างนี้

พระอาจารย์ –  ธรรมดา เป็นธรรมดา ...แม้แต่ของคนมีปัญญาก็มีระดับขั้นต่างกันไป แล้วมันก็มักจะมาตำหนิไอ้พวกอย่างนี้ด้วยซ้ำ ว่าปฏิบัติยังไงไม่รู้จักสร้างบารมี 

ไม่รู้จักทำนั่นทำนี่ เข้าวัดเข้าวาก็ไม่ค่อยเข้า หรืออะไรก็ตาม ว่ากันไป เห็นมั้ย การกระทำพวกนี้มันสร้างสมอะไรรู้ไหม ...สร้างสมความโลภ สร้างสมมานะ สร้างสมความว่ากูเหนือกว่า


โยม –  ยิ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิเข้าไปใหญ่

พระอาจารย์ –  พระพุทธเจ้าไม่เคยแนะนำให้ทำอย่างนั้นเลย แต่ว่าการบอกการสอน มันเปลี่ยนแปลง มันถูกปฏิรูปไปในลักษณะที่อะไรก็เฉออกจากหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือว่าผลที่ได้รับในปัจจุบัน

แต่ในขณะที่เราทำปรมัตถบารมี เราไม่ได้ปฏิเสธการให้ทานเบื้องต้น น่ะ คือมีเหตุให้ทำก็ทำ ...ไม่ใช่เพราะอยากหรือไม่อยาก


(ต่อแทร็ก 1/29  ช่วง 4)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น