วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/28 (1)


พระอาจารย์
1/28 (25530428B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
28 เมษายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)


พระอาจารย์ –  เอ้า ฟังแล้วเข้าใจมั้ย

โยม –  เข้าใจค่ะ คือให้อยู่กับปัจจุบันให้ได้  

พระอาจารย์ –  อือฮึ 

โยม –  แล้วก็รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น พยายามทำใจให้เป็นกลาง คือมันจะต้องเกิด

พระอาจารย์ –  ยอมรับมันซะ..ทุกอย่าง เท่าที่จะทำได้...มันจะเป็นไปตามกำลังของเรา 

แล้วไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะได้อะไร หรือมันจะเป็นยังไง  อย่าไปให้ความหมายกับคำว่าถูก-ผิด  อย่าไปให้ความหมายกับคำว่าดี-ไม่ดี  มันยังไงก็อย่างงั้น พยายามตั้งสติให้อยู่ตรงนี้ 

แล้วมันจะมีอาการที่ดีดดิ้นอยู่ภายในลึกๆ ที่มันจะผลักให้เรา “ต้องอย่างงั้นสิ ต้องอย่างงี้สิ ควรจะอย่างนั้นไหม ไม่ควรจะอย่างนี้มั้ย”  นี่ มันจะผลักเรา ด้วยอารมณ์พวกนี้ภายใน 

ก็ให้ทัน แล้วไม่เอา ไม่เชื่อมัน ...ก็รู้ว่า เออ มันจะคิดออกมาว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้มั้ย แล้วมันจะให้เราไปกระทำหรือไปหา ...ให้ทันแล้วไม่เชื่อมัน อย่าตามมัน แค่เนี้ย ...เอาชนะกันตรงนี้

ไม่ได้ชนะด้วยการที่ว่าทำให้ได้อะไรมา หรือแก้สภาวะ หรือไปแก้อารมณ์ หรือไปแก้รูปแก้นาม หรือไปทำให้มันตั้งอยู่อย่างไร อันไหนชอบก็จะให้มันอยู่นานๆ

แล้วก็เข้าใจว่าถ้ามันอยู่นาน แล้วจะเก่ง แล้วจะดี แล้วจะเดินหน้าต่อไปมากขึ้น เร็วขึ้น ...อันนั้นมันคิดเอาเองทั้งนั้น มันเกิดจากการปรุงแต่งของจิตทั้งนั้นน่ะ

แล้วก็ไปเชื่อมันอย่างนั้น มันก็สะสมด้วยความไม่รู้มากขึ้น ไปจดจำสภาวะต่างๆ นานา ของคนนั้นมั่ง ของคนนี้มั่ง ของอาจารย์บอกมั่ง อ่านหนังสือมามั่ง

จิตจะต้องเป็นอย่างงั้น เป็นอย่างงี้  เวลาทำก็นั่งเฝ้า นอนเฝ้า กำหนดเฝ้า เฝ้าดูเพื่อให้เกิดเป็นอย่างนั้น ...ถ้าเกิดเป็นอย่างนั้นเมื่อไหร่ ถ้าได้สักนิดนึงก็ อู้ย ดีใจโลกแทบแตกว่าตรงแล้วใช่แล้ว

มันเลยกลายเป็นว่า...กลายเป็นสติที่เราเฝ้ารอ สติที่สร้างขึ้นมาเพื่อจะเข้าไปเสวยในอาการ หรือสภาวะใดสภาวะหนึ่ง ด้วยความกระสัน ทะยาน อยาก เนี่ย

มันไม่เป็นสติที่พระพุทธเจ้าให้กลับมาเรียนรู้ตามความเป็นจริงในทุกอาการ ...ไม่ว่าอะไร ยืนเดินนั่งนอน อยู่ยังไง เป็นยังไง ดูได้ตลอดเวลา รูปนามมีตลอดเวลา

ความเป็นทุกข์มีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ต้องหาใหม่ ไม่ต้องสร้างขึ้นใหม่ ...มันมี แล้วก็เปลี่ยนแปรไปทุกลมหายใจของรูปและนามนี้  ก็กำหนดรู้ไปเรื่อยๆ ...ใจเย็นๆ อย่าใจร้อน 

เพราะนั้นการปฏิบัติ...ไม่มีช่วงเวลา คือตลอดเวลา ...รูปนามมีอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยขาด ไม่เคยขาดหายไปไหน ไม่เคยไม่ต่อเนื่อง ...มันมีอยู่ตลอดเวลาโดยต่อเนื่อง

ไอ้ที่ไม่มีตลอดเวลาและไม่ต่อเนื่อง คือสติกับสัมปชัญญะ ...อันนี้ต่างหากที่เราจะต้องมาฝึก ให้มีการรู้เห็นเป็นประจำ เป็นนิจ เป็นนิสัย เป็นเนืองๆ

ทีรูปนามยังเกิดได้ต่อเนื่องเลย ไม่ขาดสายเลย ...สติทำไมมันขาดๆ หายๆ ล่ะ  ทำไมมันมีแต่ไอ้ตอนที่เราตั้งใจดู แค่ช่วงเวลาห้าวันสิบวัน แล้วหลังจากนั้นน่ะมันไปไหน

ขนาดห้าวันสิบวันก็ยังไม่ต่อเนื่อง เวลายืน เวลาเดิน เวลากิน เวลาไปไหนมาไหน เวลาพูดเวลาคุย...ก็ไม่มีสติ ไม่มีการรับรู้ ไม่มีการเห็นอาการของกาย อาการของรูปนามเป็นยังไง

ทั้งๆ ที่รูปและนามนี่...รู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม...เขาก็ดำเนินไป เปลี่ยนแปลงไป เจริญไปเสื่อมไปของเขาตามเหตุปัจจัยตลอดเวลา  แม้กระทั่งเวลาหลับ รูปนามก็ยังต่อเนื่องอย่างนั้นน่ะ พึ่บพั่บๆๆ ของมัน โดยไม่ขาดสายเลย

เพราะนั้นว่า ถ้าอยากจะเข้าใจ หรือว่าอยากได้ผลของการปฏิบัติธรรม นี่ มันอยู่ที่ว่าสติและสัมปชัญญะนี่เข้าไปเห็นรูปนามได้ต่อเนื่องขนาดไหน

เรียกว่าเข้าไปเห็นความเป็นจริงของรูปและนาม...ของเราเองนะ ไม่ใช่ของคนอื่นนะ ...นี่ มันเข้าไปเห็นได้มากหรือว่าต่อเนื่องกันแค่ไหนเท่านั้นเอง

สภาวธรรมหรือความเข้าใจธรรมหรือว่าเกิดปัญญาตามความเป็นจริงนี่ มันก็เกิดการยอมรับมากขึ้นๆ ...มันก็จะเห็นกระบวนการของรูปและนามตามความเป็นจริง

มันไม่ใช่เห็นกระบวนการของรูปนามตามที่เราสั่ง หรือตามที่เราประกอบกระทำด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้รูปนามนั้นเป็นไปตามที่เราต้องการ

ถ้าทำอย่างนั้น ฝึกอย่างนั้นน่ะ มันจะเกิดความแตกต่างของสภาวะที่จับต้องได้แบบไม่มีที่มาที่ไปน่ะ ...มั่ว มันจะมั่ว แล้วมันจะแบ่งออกเป็นสำนัก แบ่งออกเป็นหลากหลายวิธีการ

คือแต่ละสำนัก แต่ละวิธีการ ก็กลายเป็นว่าเพื่อให้เกิดสภาวะอย่างที่เขาต้องการ อย่างที่เขาโปรยไว้ว่าจะได้อย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ มันจะมีความแตกต่างในเป้าประสงค์

แต่ในความเป็นจริงคือ กลับมาเห็นรูปนามตามความเป็นจริง ซึ่งมันมีอยู่แล้ว มันแสดงตัวมันเองอยู่แล้ว...ธรรมน่ะ  ไม่ใช่ว่าไปหาใหม่หรือไปทำขึ้นมาใหม่

ให้กลับมารู้เห็นกับมันเฉยๆ เฝ้าดู ตามรู้ รู้แล้วก็เห็นกายกับจิตในปัจจุบัน ...ส่วนกายจิตในอนาคต กายจิตในอดีต อย่าไปใส่ใจ อย่าไปให้ความสำคัญกับมัน

มันจะเป็นยังไงก็ช่าง มันควรจะเป็นยังไงก็ช่าง หรือมันเคยเป็นยังไงมาก็ช่าง  อันนี้มันเป็นเรื่องของสัญญากับสังขารหรือว่าความปรุงแต่งในจิต...อย่าไปเชื่อมัน

นั่งอยู่ตรงนี้ก็ต้องรู้ตรงนี้  กายตรงนี้นั่ง..จิตต้องนั่ง กายยืน..จิตยืน กายเดิน..จิตเดิน  มันต้องพร้อมกันอยู่อย่างนี้ ให้สมดุลเป็นกลางอยู่ในปัจจุบัน สม่ำเสมอ เนืองๆ เป็นนิจ จนเป็นอาจิณ จนเป็นนิสัย

เราก็จะเห็นกระบวนการหรือปัจจยาการของรูปนาม การต่อเนื่องกันของรูปและนาม ตามความเป็นจริงเขาเป็นอย่างไร แล้วจึงจะเข้าใจระบบของรูปนาม กายและจิต

เขาก็เป็นไปตามธรรมชาติของเขาเองนั่นแล ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของเราหรือของใคร ...ตรงนี้เมื่อมันเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ จิตมันจะเพิกถอนเลย ผ่อนคลาย

ผ่อนคลายความเข้าไปหมายมั่น เข้าไปมี เข้าไปเป็น เข้าไปสำคัญเอาว่า ระบบนี้ ระบบของกาย ของรูปของนาม หรือว่าระบบของตัวขันธ์ทั้งหมดนี่ เป็นเรื่องของเราโดยตรง

มันจะเห็นกลายเป็นว่า ขันธ์ หรือรูปนาม กลายเป็นธรรมชาติหนึ่ง ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า แค่นั้นเอง ไม่ใช่ของใคร หรือว่าไม่มีใครมาเป็นผู้กำหนดหรือบงการ

ตรงนี้ถึงเรียกว่าปัญญา...ด้วยการที่ว่าวางจิตให้เป็นกลาง ...แต่ไปทำไม่ได้นะ การวางจิตเป็นกลาง มันต้องเรียนรู้ ...ไม่มีใครหรอก ฝึกครั้งแรกแล้วจะเป็นกลาง สติครั้งแรกแล้วมันจะกลาง

รู้ไปเรื่อยๆ มันจะปรับ พัฒนาสติขึ้นไป ให้เป็นสติที่เป็นกลาง หรือว่าสมดุล หรือเป็นสติที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีเป้าหมาย ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้จงใจ ไม่ได้เจตนา

แต่เป็นสติที่เป็นอาการแค่รู้เฉยๆ รู้เปล่าๆ รู้ตามความเป็นจริง ...ไม่ใช่รู้ในสิ่งที่เราอยากจะรู้ ไม่ใช่รู้เพื่อให้เกิดอะไร ไม่ใช่รู้เพื่อให้มันดับอะไร ...มันจะเป็นรู้ที่กว้างขวาง รู้ที่ไม่มีเงื่อนไข รู้ที่ไม่มีประมาณ

สติที่เป็นองค์มรรคจริงๆ นี่ สติที่เป็นอริยมรรคจริงๆ จะเป็นการระลึกรู้หรือรู้ที่ไม่มีประมาณ เห็นที่ไม่มีประมาณ ไม่มีกรอบ คือมันจะยอมรับทุกอย่างที่จิตเข้าไปรู้ได้หมด

โดยไม่มีเงื่อนไขต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่มีเงื่อนไขแม้กระทั่งรูปนาม ...เมื่อเราไม่มีเงื่อนไขกับรูปนามของเราเอง ต่อไปมันก็จะไม่มีเงื่อนไขกับรูปนามภายนอก มันจะไม่มีเงื่อนไขกับรูปนามที่ไม่มีวิญญาณครอง 

จนมันจะเริ่มไม่มีความหมาย ไม่มีเงื่อนไขกับทุกสิ่ง  มันไม่มีเรียกว่ารูปนามแล้ว แต่จะเรียกว่าทุกสรรพสิ่ง ทั้งที่มีและไม่มี ...ตรงนั้นน่ะ มันถึงจะเข้าไปถึงความหมายว่า อัปปมาโนพุทโธ อัปปมาโนธัมโม และอัปปมาโนสังโฆ 

คือไปสู่ภาวะที่เรียกว่า จิตที่รู้ไม่มีประมาณ ...นั่น ไม่ใช่รู้อยู่แค่นี้ ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของอนันตาจักรวาล

เมื่อเห็นความเป็นจริงของทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอนันตาจักรวาล แล้วก็จะเห็นสิ่งที่ซ้อนอยู่ในอนันตาจักรวาล ก็จะเข้าไปเรียนรู้ถึงอนันตมหาสุญญตา

เมื่อเห็นในสรรพสิ่งทั้งหลายหรืออนันตาจักรวาลนั้นดับไป มันจะเข้าใจถึงความหมายว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา ... สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

เออ พูดไปซะยาวไกล ...กลับมารู้เฉยๆ แค่นี้พอ  อย่าไปคิดมาก ...การกำหนดรู้ก็อย่าไปกำหนดแบบเพ่ง หรือว่าตั้งอกตั้งใจจะรู้ มันแข็งไป มันไม่อ่อนนุ่ม มันไม่นุ่มนวล มันเกร็ง

ไอ้อาการที่เพ่งกำหนดเข้าไปจริงๆ จังๆ นั่นน่ะ มันเกิดจากอำนาจของตัณหาเข้ามา ให้สังเกต แล้วลองให้มารู้แบบเบาๆ รู้แบบสบายๆ รู้แบบไม่มีเป้าหมาย รู้แบบเห็นยังไงก็ได้ ...ให้ลองดู

มันจะเกิดอาการที่มันนุ่มนวลขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น กรอบจะน้อยลง ...ไม่ต้องไปย้ำซ้ำซากอะไรกับมันหรอก อาการทั้งหลายทั้งปวง มันไม่มีชื่อไม่มีเสียง มันไม่ได้บอกว่าอะไรด้วยซ้ำ

แม้แต่ยืน แม้แต่เรานั่งนี่ มันยังไม่ได้เลยว่าเรานั่ง  มันบอกมั้ย ถามกายดูซิมันบอกมั้ยว่ากำลังนั่งอยู่ เข้าใจมั้ย ...มันก็เป็นแค่ก้อนๆ สุมกันอยู่แค่นี้ ใช่ป่าว

ถ้าดูเฉยๆ นะ ไม่ต้องคิดนะ ไม่ต้องบอกอะไรนะ มันเป็นแท่งๆ อะไรไม่รู้ แข็งๆ หยุ่นๆ กองอยู่ แล้วก็ขยับไปขยับมา ไหวไปไหวมา แค่นี้เอง ...นี่ ถ้ารู้เบาๆ จะเห็นกายตามความเป็นจริง

ไม่มีคำว่ายืน ไม่มีคำว่านั่ง ไม่มีคำว่านอน  มีแต่อาการที่ไหลไปไหลมา ไหวไปไหวมา ขยับไปขยับมา เขยื้อนไปเขยื้อนมา อย่างนี้ ...มันไม่มีภาษาด้วยซ้ำว่ามันเรียกว่าอะไร

เราไม่ต้องไปตอกย้ำให้ว่ามันคืออะไร ...ไม่อย่างนั้นต่อไปเราไปเจอสภาวะจิตบางอาการ สภาวะนามบางอาการ ...เจอเข้านี่งงเป็นไก่ตาแตกเลย ไม่รู้จะว่าอะไรหนอแล้ว 

มันหนอไม่ออก เกินกว่าที่เราจะหาความหมาย เกินกว่าที่จะหาบัญญัติหรือสมมุติมาหนอกับมันแล้ว

แต่ว่าถ้ารู้เฉยๆ อะไรก็ได้ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่ามี สักแต่ว่าเป็น ...ไม่ต้องไปหมายมั่นว่าสิ่งนั้นคืออะไร อาการนั้นเรียกว่าอะไร จิตมันจะเริ่มเป็นกลางกับทุกสรรพสิ่งมากขึ้น

รับได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราไม่เคยรู้ก็รับได้ เพราะไม่ต้องไปรู้ว่ามันคืออะไร เห็นว่าแค่แวบๆ ขยับๆ อยู่เบื้องหน้าเราแค่นั้นเอง อย่าไปอะไรกับมัน เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนๆ


(ต่อแทร็ก 1/28  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น