วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/29 (2)


พระอาจารย์
1/29 (25530523A)
23 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/29  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  จนเห็นความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปนี้...เป็นธรรมดา มันต้องเป็นอย่างนี้ มันเป็นการหมุนวนอยู่อย่างนี้ เป็นวิถีของโลก มันเป็นอย่างนี้

แต่ว่าจะมีเราที่รู้เห็นความเป็นจริงที่เป็นธรรมดานี้กำกับอยู่ ...ตรงนี้เรียกว่าอยู่กับมันด้วยปัญญา คือเห็นตามความเป็นจริง นี่ ทุกข์จะไม่เกิดขึ้นมาเลย 

มันมีแค่ทุกข์ตรงที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเอง ...กายนี้ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปเอง เวทนาในกายนี้ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเอง ...นี่ทุกข์นี่คือทุกข์ตามความเป็นจริง เป็นธรรมดาๆ 

เราก็เห็นความเป็นธรรมดา เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เวทนาน้อยบ้าง เดี๋ยวก็เวทนามากบ้าง เดี๋ยวก็เวทนานาน เดี๋ยวก็เวทนาสั้น เดี๋ยวก็เป็นเวทนาที่บีบคั้นรุนแรง

นี่เห็นมั้ย เราก็เห็นความเป็นจริง มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่เป็นธรรมดา  เราไม่ยุ่งกับมัน สุดท้ายมันก็ดับไป ...นี่เรียกว่าอยู่กับกายวาจาใจนี้ด้วยความเป็นกลาง

แต่ไม่ได้อยู่ด้วยการแก้ทุกข์ หรือทำให้ทุกข์นี้ไม่เกิดขึ้น...ไม่ใช่  ทำไม่ได้ ทุกข์อันนี้ทำไม่ได้  จะให้กายนี้ไม่มีเวทนานี่ ทำไม่ได้ จะให้เวทนาที่เกิดขึ้นแล้วดับไปตอนนี้ไม่ได้

อย่างนี้ไม่เป็นกลางแล้วนะ เข้าไปอยากมีอยากเป็นแล้วนะ เข้าไปอยากได้อะไรที่ดีกว่านี้แล้วนะ เข้าไปอยากที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้นแล้วนะ ...ตัวนี้ต้องคัดกรองออก ต้องรู้เท่าทันแล้วคัดกรองอาการนี้ออกไป

เพราะนี่คือของไม่จริง ความคิดความเห็นเช่นนี้ ท่านเรียกว่าไม่จริง หรือในความไม่จริงนี้ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ...มันก็เอามิจฉาทิฏฐิเช่นนี้ออกไป

เมื่อรู้ทันความอยากและไม่อยาก ก็เหมือนกับคัดกรองเอามิจฉาทิฏฐิออกไป ให้เห็นว่ายอมรับตามความเป็นจริง ...ไม่ได้ก็ต้องได้ๆ เพราะหนีไม่พ้นหรอกความเป็นจริงนี้

มันจะแสดงให้เราตลอดเวลา มันจะแสดงให้เราอยู่จนตาย ...ถ้ายังไม่รู้ความเป็นจริงนี้ ไม่เห็นความเป็นจริงนี้ ก็จะต้องกลับมาเรียนรู้กับมันอีก ถ้ากลับมาเรียนรู้แล้วยังไม่รู้ความจริงอีก ก็กลับมาใหม่

จนกว่าจะเห็นความเป็นจริงนี้ แล้ววางมัน แล้วยอมรับมัน ...ถ้าเริ่มยอมรับมัน ก็จะกลับมาน้อยลง ถ้าเริ่มยอมรับกับมันได้มากขึ้น ก็สั้นลงในการเกิด

ถ้ายอมรับโดยสิ้นเชิง ไม่มีปฏิกริยาในการบวกหรือลบกับอาการทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทั้งภายในและภายนอก...คุณไม่ต้องมาเกิดแล้ว จบได้ในตรงนั้นแล้ว

นี่เรียกว่าปัญญา นี่เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง ปัญญาแปลว่าเห็นตามความเป็นจริง...ไม่ได้เห็นอะไรมากกว่านี้เลย เห็นว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้

กายเป็นอย่างนี้ ต้องมีเวทนาเป็นอย่างนี้  จิตเป็นอย่างนี้ ต้องมีสัญญาเป็นอย่างนี้ ต้องมีสังขารความปรุงแต่งความนึกคิดเป็นอย่างนี้ ต้องมีความรู้สึกเป็นอย่างนี้ เป็นธรรมดา

ไม่ใช่จะไปเลือกเอาอันใดอันหนึ่ง หรือต้องอย่างนั้น ไม่อย่างนี้  จิตจะต้องเป็นอย่างนั้น ต้องมีความรู้สึกเช่นนี้ไม่แปรเปลี่ยน ต้องคงอยู่อย่างนั้น หรือต้องให้เป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา

ตัวนี้คือความเห็นผิด ตัวนี้เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ...เราต้องรู้เท่าทัน แล้วก็ไม่เชื่อมัน ไม่เอาความเห็นนี้เข้ามาเป็นตัวพาวิถีกายวาจาจิตไปตามความคิดเห็นนั้นๆ

เรียกว่ากลับมาอยู่ในองค์มรรคหรือเจริญมรรค คือรู้เฉยๆ ...จะคิดจะแสดงความเห็นอะไร จะเข้าไปสอดแทรก เข้าไปว่าจะต้องอย่างงั้น จะต้องอย่างงี้ ...เออ รู้อยู่ๆ แต่ไม่ทำ แต่ไม่เชื่อ กลับมารู้เฉยๆ

อยากคิด..คิดไป จะให้ทำอะไรก็คิดไป..แต่ไม่ทำ  จะต้องให้จิตเป็นอย่างนั้น จิตต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องไม่ให้มีอารมณ์นี้เกิดขึ้น คิดได้...แต่ไม่ทำ ...กลับมาอยู่เฉยๆ รู้เฉยๆ

นี่ อย่างนี้เรียกว่าเจริญมรรค อยู่ในเส้นทางของอริยมรรค อยู่ในเส้นทางของมัชฌิมาปฏิปทา อยู่อย่างนี้ แล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้น เกิดขึ้นก็ยอมรับตามความเป็นจริง...ว่าอะไร

คำว่ายอมรับตามความเป็นจริง คือมีความเป็นจริงเดียวเท่านั้น...คือมันตั้งอยู่ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ดับ  สุดท้ายแล้วมันก็ดับไป..เองนะ ไม่ใช่เพราะใครนะ ไม่ใช่เพราะเรานะ ไม่ใช่คนอื่นทำให้ดับนะ

แต่เพราะตัวของมันเอง...อย่างที่เราบอกว่า มันมีอายุขัยของมันเอง 

นั่นแหละคือความแปรปรวนมันมีอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว สุดท้ายที่สุดของความแปรปรวนก็คือความดับไป ...ตรงนี้เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง แล้วก็ยอมรับความเป็นจริงอันนี้

ไม่ใช่ไปสร้างความเป็นจริง แล้วก็ไปเทิดทูนความเป็นจริงที่ความคิดมันสร้างไว้ ว่าต้องอย่างนั้นนะ ต้องอย่างนี้นะ ถ้านอกนี้ไปไม่ใช่นะ ถ้าอย่างนี้เรียกว่าใช่นะ

เนี่ย แล้วเราเชื่อความจริงที่เราสร้างขึ้นมาเอง...ด้วยความเห็น ด้วยความที่เราจดจำมา ด้วยความที่เชื่อคนอื่นเขาพูด ...มันพาเข้ารกเข้าพงหมด มันพาเราออกไปทุกข์หมดในความเห็นเช่นนั้น

จนกว่าเราจะไม่เชื่อมัน แล้วก็กลับมาอยู่ในฐานของความเป็นปกติ รู้เฉยๆ รู้เป็นกลาง มั่นคงอยู่กับจิตตรงนั้นน่ะ ตรงที่รู้เฉยๆ  อะไรก็ได้ อยากคิด..คิดไป ...ไม่เชื่อ

จะมีอารมณ์อะไรที่มันเร้าจิตขนาดไหนเกิดขึ้นก็รู้ แต่ว่าไม่ทุกข์ไปกับมัน ไม่ให้มันมามีอิทธิพลบังคับให้เราเกิดความคิดความเห็น ให้กระทำหรือไม่กระทำอะไรออกไป

ก็กลับมาอยู่ในฐาน เออ อยู่กับมัน รู้กับมันไป ...มันจะนาน มันจะน้อย มันจะสั้น มันจะเร็ว มันจะช้า มันจะมาก มันจะอะไรก็ตาม ก็ปล่อยให้เขาแสดงฤทธิ์เดชของเขาไป

จิตมันจะแสดงอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยงของมัน เมื่อกระทบสัมผัสอารมณ์ต่างๆ นานา  มีความเร่าร้อนอยู่ภายใน หรือมีความชุ่มเย็นอยู่ภายใน หรือมีความไม่มีอะไรอยู่ภายใน

มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เรารับมาจากอายตนะภายนอกแค่นั้นเอง แล้วก็กลับมารู้เห็นมันเป็นธรรมดา เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดาหมด เห็นทุกอย่างมันเป็นอย่างนี้ เห็นทุกอย่างว่ามันเกิดเอง มันก็ดับเอง

ไม่มีใครให้มันเกิด ไม่มีใครไปทำให้มันดับ เวลาเราเกิดอารมณ์ หรือว่าเรารับรู้รับเห็นเรื่องราวแล้วมันมีอารมณ์ขุ่นข้องหมองมัวในใจ เราไม่อยากให้มันเกิด มันก็เกิดของมันเอง 

เมื่อมันเกิดเองมันก็ต้องดับเองสิ ก็ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน แล้วไม่ต้องไปเดือดร้อนอะไรกับมันด้วย ว่ามันดีหรือไม่ดี ว่ามันทำให้เราไม่ดี หรือทำให้จิตเราไม่ดี

มันก็เป็นอย่างนี้ มันไม่ดีก็ไม่ดีแป๊บเดียว เดี๋ยวก็หาย แค่นั้นเอง ดูมันไป อยู่ด้วยจิตที่ว่ายอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นกลาง ต่ออาการ ทั้งภายนอกและภายใน

นี่คือการเจริญปัญญาไปในตัว รู้แล้วก็วางไปในตัว ...ในขณะที่รู้เฉยๆ รู้ธรรมดา รู้ปกตินี่ มันพร้อมหมด ทั้งรู้ทั้งวาง ทั้งเห็นตามความเป็นจริง ทั้งล้างความเห็นผิดทั้งละอนุสัย ทั้งละกิเลส

นี่มันเกิดขึ้นพร้อมกันเลยในสายนี้เส้นนี้ เส้นที่เป็นกลาง เส้นที่ธรรมดา เส้นที่อยู่เป็นธรรมดา เส้นที่รู้เป็นปกติ ...ทั้งๆ ที่ว่าในปกติรู้นั้นมันไม่รู้อะไรเลยนะ

ถึงไม่เห็นอะไรในความเห็นที่มันเป็นธรรม ไม่เห็นมีความรู้อะไรที่มันจะเป็นไปในทางที่เลิกละถอดถอนอะไรเลยก็ตาม ...แต่มันเลิกละเพิกถอนออกในตัวของมันเอง

นี่ จากการที่เข้าไปยอมรับความเป็นจริงทุกอย่างที่ปรากฏต่อหน้าเรา ...นี่เรียกว่าปัญญา นี่เรียกว่าภาวนามยปัญญา นี่ไม่ได้เรียกว่าจินตามยปัญญา แต่เรียกว่าภาวนามยปัญญา

นี่เป็นปัญญาที่เกิดจากการที่จิตเข้าไปเรียนรู้ด้วยตัวของมันเอง แล้ววางของมันเอง...ด้วยปัจจัตตังจำเพาะจิตนั้นๆ ...ไม่ได้วางด้วยการคิด ด้วยความคิด

ไม่ได้วางด้วยการสร้างความเห็นใดความเห็นหนึ่งมาลบความคิดนั้น มาล้างความเห็นนั้น ...แต่มันเห็นความคิดนั้นไม่มีความเสถียร มีความแปรปรวน แล้วมีความดับไปเอง

จิตมันเห็นอย่างนั้น จึงเกิดปัญญาที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา ...ไม่ใช่เห็นว่า อ้อ ความคิดเดี๋ยวมันก็ดับไปนะ นี่ๆๆ มันกำลังไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็อย่างนั้นเดี๋ยวมันก็อย่างนี้

ก็คิดพิจารณาถึงอันโน้นมาเปรียบเทียบ อันนี้มาเปรียบเทียบ...นี่ไม่ใช่ ไม่ใช่เห็นตามความเป็นจริง แต่เห็นไปตามที่เราสั่งให้มันคิดให้เห็นตามมันอย่างนั้น ให้เห็นเป็นอย่างนี้

แต่ในระหว่างเดินทางสายนี้ เริ่มต้นมันก็ต้องมีประกอบกันไปก่อนบ้าง ...แล้วค่อยไปจำแนกแยกแยะเอาภายหลัง คั้นเอาจนเหลือแต่หัวกะทิน่ะ

ต่อไปมันก็จะเหลือแต่ว่ามันไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องอาศัยความคิดมาช่วยเลย ...แค่รู้เฉยๆ นี่แหละ ทุกสิ่งทุกอย่างเพียบพร้อม สมบูรณ์ รวมตัวอยู่ในนั้นแล้ว ทั้งศีลสมาธิปัญญา

ทั้งมรรคทั้งแปด อริยมรรคทั้งแปด ทั้งหมดของอริยสัจ ๔ คือความเห็นเดียวกันหมดเลยในความเป็นกลางตรงนั้น ...ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องไปหาเหตุหาผลอะไรมาประกอบ

ไม่ต้องรู้อะไรมากตามตำรา หรืออย่างที่เขาว่า คนนั้นเขารู้อย่างนี้ คนนี้เขาเห็นอย่างนั้น คนนั้นเขาเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ คนนี้เขาต้องเข้าใจเป็นอย่างนี้ แล้วเขาก็แสดงออกมาเป็นธรรมๆๆ

เอาแค่รู้ตรงนี้อยู่กับตรงนี้ก็พอแล้ว ทุกอย่างก็จะดำเนินไปด้วยปัญญาที่จะคุ้มครองวิถีของกายวาจาจิต...ให้อยู่ด้วยความเป็นกลางไปตลอดการดำเนินชีวิตของเรา

ในขณะเดียวกัน ปัญญาก็จะพอกพูนไป เห็นแจ้งขึ้นๆ ...แต่ก่อนเคยว่าจริง แต่ก่อนเคยว่ามีค่ามีสาระ ...พอแจ้งขึ้นๆ จะเห็นว่ามันเริ่มไม่จริงขึ้นแล้ว มันเริ่มไม่มีสาระไม่มีคุณค่าขึ้นแล้ว ในสิ่งที่ปรากฏ

ซึ่งแต่ก่อนเราเคยให้คุณค่ามากมายกับอาการเช่นนี้ กับสภาวะเช่นนี้ กับอารมณ์อย่างนี้ กับความรู้สึกอย่างนี้เมื่อแจ้งแล้วมันก็จะบางเบาลงในการให้ค่านั้นๆ

เห็นว่ามันเป็นของที่มันง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่ได้มั่นคงอะไร ...คือในขณะนั้นน่ะมันเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์แล้ว จิตมันก็เริ่มยอมรับกฎของไตรลักษณ์มากขึ้น

นี่ เขายอมรับเองนะ ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่รู้สึกว่าเรายอมรับอะไรเลย ...แต่จิตเขายอมรับของเขาเอง แล้วเขาก็วางในตัวของเขาเอง จิตก็จะเบาขึ้นๆ บางขึ้น สบายขึ้น ง่ายขึ้น

มองอะไรเห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็เหมือนกับลื่นไหลไปเลย ไม่ได้ไปคาไปข้องกับคำพูด หรืออากัปกริยา หรืออาการ หรือเหตุการณ์ใดๆ ที่ปรากฏขึ้น


(ต่อแทร็ก 1/29  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น