วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/29 (4)


พระอาจารย์
1/29 (25530523A)
23 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/29  ช่วง 3

โยม –  ใช่ค่ะ แต่ก่อนไปเพราะอยาก

พระอาจารย์ –  ต่างกัน เห็นมั้ย ...มันเป็นด้วยความพอดี มันเป็นด้วยความสมดุล มันเป็นไปด้วยความไม่ได้เบียดเบียนตนและไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น

ทุกอย่างรวมลงอยู่ตรงนี้...ปรมัตถ์ที่ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้มีอะไร...แต่มันสมบูรณ์ มันพอดี มันเพียงพอ ...แล้วมันจบ เข้าใจมั้ย ถ้าอยู่ตรงนี้มันจบ มันรู้จักคำว่าพอ

การที่จะเข้าสู่ความหลุดพ้น เข้าสู่ปัญญาขั้นสูงสุดได้ ต้องเข้าด้วยปรมัตถบารมีเท่านั้น ด้วยการหยุด...หยุดการกระทำ ทั้งภายนอกและภายใน หยุดการจงใจ หยุดเจตนา หยุดความปรารถนา หยุดการปรารภ หยุดการตรึก

แม้แต่การตรึกในจิต แม้แต่ความคิดความเห็น ความปรุง ความเชื่อ ความไม่เชื่ออะไรก็ตาม...หยุดหมด ไม่ตามไปเลย  กลับมาตรงที่นี้ ตรง “นี้” ...เข้าใจคำว่า “นี้” ไหม อยู่ตรงนี้ ที่นี้ เป็นที่เดียวเท่านั้น


โยม –  ฟังพระอาจารย์เทศน์ จริงๆ นี่ มันไม่ยากเลย

พระอาจารย์ –  อือ


โยม –  แต่คนมันไป...

พระอาจารย์ –  มันเกินไป มันลึกซึ้งเกินไป มันซับซ้อนเกินไป


โยม –  ใช่ ยิ่งอ่านมา เรียนมาก่อนนี่

พระอาจารย์ –  มันคิดว่ามันรู้มาก แต่เราบอก..ยิ่งรู้ยิ่งโง่


โยม –  ใช่

พระอาจารย์ –  กับไม่รู้อะไร ...แต่นี่คือฉลาด หรือว่าฉลาดภายใน ฉลาดในการไม่รู้อะไร นั่นแหละคือความเป็นจริง


โยม –  ก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาสอนกันไปอย่างนั้น

พระอาจารย์ –  ก็ต้องถามว่าคนสอนมันอยู่ในระดับไหนล่ะ เพราะว่าคนสอนก็มีหลายระดับ แล้วก็คนฟังก็พร้อมที่จะเชื่อด้วย ...เพราะมันอยากจะเชื่ออย่างนั้น

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติจริงๆ นี่ เบื้องต้นเลยนะ ที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าต้องนั่งนานๆ เดินจงกรมมากๆ หรือต้องทำจิตยังไง

แต่ที่สำคัญจริงๆ คือ ต้องปรับความเห็นให้ตรงก่อน ต้องปรับให้เป็นสัมมาทิฏฐิก่อน ...ไอ้ที่เราเคยเชื่ออย่างไร ไอ้ที่คิดว่าต้องอย่างนั้น น่าจะอย่างนี้

นี่ จะต้องมาปรับให้ตรงก่อน ว่าเป้าหมายที่แท้จริงหรือหลักที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้อย่างแท้จริง ของอริยสัจที่แท้จริง เป้าหมายของการปฏิบัติที่แท้จริง ผลที่แท้จริงคืออะไร

และไอ้ที่เคยทำมาคือได้อะไร ไอ้ที่เคยเชื่อไว้ มันถูกหรือมันผิด มันตรงหรือไม่ตรง ...นี่ท่านไม่ได้เรียกว่าถูกหรือผิด ท่านเรียกว่ามันตรงหรือไม่ตรง

ตรงนั้นน่ะมาปรับใหม่ ต้องปรับความเห็นให้ตรงก่อนเป็นเบื้องต้น ...เมื่อเราตั้งความเห็นให้ตรงแล้วนี่ ง่ายขึ้นเลยนะ จะชัดเจนขึ้นเลยนะ จะเข้าใจบุคคลมากขึ้น


โยม –  เพราะว่าที่ผ่านมา มัน...เรียกว่าชกไม่ตรงเป้า

พระอาจารย์ –  อื้อ มั่วไปหมด มวยวัด ...ใครว่าดีก็ดี ใครว่าใช่ก็ใช่ ใครพูดแล้วน่าเชื่อถือก็เชื่อ


โยม –  ตอนนี้ก็ตรงเป้าขึ้นคือจิตพอมันวอกแวกขึ้นนิดหนึ่งเราก็จะรู้มันแล้ว

พระอาจารย์ –  เออ แค่นั้นน่ะพอแล้ว นั่นน่ะคือการงานอันชอบ หรือว่าสัมมาอาชีโว ...การงานชอบ คือการงานตรงนี้ การปฏิบัติอยู่แค่นี้เองนะ ทำอยู่แค่นี้เอง

คือเอาสติเข้าไปรู้ทันตรงนั้น แม้แต่ว่าจะออกไปไกลแล้วก็ตาม หรือว่าปรุงเป็นเรื่องเป็นราวสำเร็จแล้วก็ตาม ก็ให้รู้ทันกับตรงนั้นให้ได้


โยม –  พอเราฝึกที่จะดูนะคะ อย่างพอเราดูจิตนี่ ช่วงหลังมันจะไม่ออกไปข้างนอกแล้ว มันเป็นอย่างนั้นรึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ก็ดีแล้ว ก็เป็นอย่างนั้นล่ะ


โยม –  คือจากที่เราเคยคิดฟุ้งซ่านไปทั่ว เราไม่ค่อยคิดอะไรแล้ว มันเหมือนคนไม่ค่อยคิดอะไร

พระอาจารย์ –  เป็นคนคิดสั้น เป็นคนมีความคิดสั้น แล้วก็เห็นแก่ตัว...คือเห็นแต่ตัวเอง ไม่ค่อยเห็นตัวคนอื่น


โยม – (หัวเราะ) ใช่ค่ะ มันไม่ค่อยสนใจคนอื่น

พระอาจารย์ –  ถ้าภาษาคนอื่นเขาก็ว่า ไอ้นี่เห็นแก่ตัว ...ก็จริงน่ะ ก็เห็นแต่ตัวเอง ไม่ได้เห็นคนอื่น ...เออ นั่นแหละมันสั้นลง อาณาเขตแห่งความคิดจะสั้นลง น้อยลง หรือว่าแคบลงๆๆ


โยม –  มันก็รู้สึกเบาขึ้นน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  อะไรที่มันสั้น อะไรที่มันลัด อะไรที่มันไม่ยาวออกไป ...มันจะเกิดความเบา จางคลาย จนที่สุดมันจะเหลือที่ต่อนเดียว จุดเดียว คือจุดรู้ตรงนั้นน่ะ

ตรงนั้นน่ะถึงจะเรียกว่ากลับมาที่ต้นตอ หรือว่าต้นเหตุ หรือว่าเหตุที่แท้จริง หรือว่าศูนย์ ...ก่อนเป็นหนึ่งนี่คืออะไร


โยม –  ศูนย์ ..มันต้องตามหาศูนย์

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องตามหานะ อย่าตามหานะ อย่าหา อย่าไปตั้งเป้า...โลภ เห็นมั้ย ...ไม่ได้ดูด้วยความโลภ ไม่ได้ดูด้วยว่าดูเพื่ออะไร ได้อะไร  แต่ดูเพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงในปัจจุบัน


โยม –  ค่ะ ดูไปเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  แค่นั้นเอง แล้วใจจะสบายขึ้น การปฏิบัติก็จะง่ายขึ้น ...ไม่ใช่ว่าการปฏิบัติจะต้องไปอยู่ตรงไหน หรือต้องทำอะไร ต้องมาโกนหัวก่อนรึเปล่า ต้องห่มขาวก่อนรึเปล่า

ต้องอยู่คนเดียวก่อนรึเปล่า ต้องอยู่ในที่อันสงบรึเปล่า ...ไม่เกี่ยวแล้วนะ เริ่มไม่ให้ความสำคัญกับการเป็นอยู่ภายนอกแล้วนะ ...รู้เมื่อไหร่คือเมื่อนั้น เป็นปัจจุบันทุกขณะไป อยู่กับปัจจุบัน

เพราะปัจจุบันมันจะสร้างได้ทุกขณะเลย ใช่ป่าว ...ไม่ต้องรอเวลาหรือจังหวะหรอก แค่รู้ตรงนั้น มันเป็นปัจจุบันขึ้นทันที ธรรมก็ปรากฏอยู่ตรงนั้นเลย

เพราะนั้นธรรมมันมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นปัจจุบัน ...อดีตอนาคตไม่เอา ข้างหน้าจะเป็นยังไงไม่รู้ ไม่สน เคยทำอะไรผ่านมา จิตเป็นยังไง ไม่รู้ไม่สน

แต่เดี๋ยวนี้ กำลังนั่งอยู่นี่ สบาย-ไม่สบาย มีอะไร-ไม่มีอะไร พอใจ-ไม่พอใจ ...นี่คือของจริง นี่คือธรรมที่เป็นของจริง  แล้วปัจจุบันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปแล้ว

กายนี่ก็เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เห็นมั้ย ให้เห็นความเปลี่ยนของกายอยู่ในปัจจุบัน ให้เห็นอาการที่เปลี่ยนไปของจิตในปัจจุบัน

จิตมันก็จะสันทัดเรียนรู้ความเป็นไตรลักษณ์ หรือความแปรปรวน หรือความไม่แน่นอนไปตลอดเวลาของการเห็นปัจจุบันๆ ไป

เห็นแต่ละปัจจุบันที่มันเปลี่ยนไป เห็นแต่ละปัจจุบันที่มันควบคุมไม่ได้ เห็นปัจจุบันที่มันไม่คงอยู่ เห็นปัจจุบันอาการที่เกิดขึ้นมันคืออาการบีบคั้น ตลอดเวลา

เพราะนั้นจิตก็จะเห็น เรียนรู้ไตรลักษณ์ด้วยปัจจุบันธรรมไปในตัว ...เพราะนั้น มันจึงเห็นปัจจุบันแล้วก็ละปัจจุบันไปในตัว 

ไม่ยึดปัจจุบันให้เที่ยง นะ ไม่ยึดปัจจุบันให้เที่ยงด้วยการประคับประคอง รักษา หน่วงเอาไว้ นั่น ...เวลานั่งสมาธินี่คือการหน่วงความสุขนะ หน่วงให้เกิดการหยุดคิดขึ้น นะ


โยม –  ใช่ เหมือนบังคับตัวเอง

พระอาจารย์ –  เหมือนทำจิตให้เที่ยง พยายามทำจิตให้เที่ยง พยายามทำจิตให้มันคงอยู่นะ ...มันสวนกับที่พระพุทธเจ้าสอนว่าจิตไม่เที่ยงรึเปล่า มันสวนกับที่จิตควบคุมไม่ได้รึเปล่า เห็นมั้ย

แต่เราพยายามกระทำขึ้นมา แล้วก็บอกว่าอันนี้ดี ต้องทำอย่างนี้ ถึงจะเกิดปัญญา ...นี่ ไปทำในสิ่งที่คัดค้านกับที่พระพุทธเจ้าท่านบอกนะ

ท่านบอกว่าจิตเป็นไตรลักษณ์ จิตไม่เที่ยง จิตเป็นทุกข์ จิตควบคุมไม่ได้ จิตไม่ใช่ของเรา จิตไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา ...แต่มันพยายามทำกันแทบเป็นแทบตายเลยล่ะ


โยม –  ที่พระอาจารย์พูดถึงคือการเข้าองค์ฌานหรือคะ

พระอาจารย์ –  ไม่รู้ เขาทำกันเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดน่ะ แล้วก็ยกย่องสรรเสริญว่าดีกัน แล้วก็พาให้คนติดดีกันเยอะๆ แล้วก็เข้าใจว่าการติดดีเยอะๆ จะไปสู่มรรคผลนิพพานได้

คือ มันก็ได้...แต่ต้องอ้อมเขาพระสุเมรุไปร้อยรอบ ถึงจะเห็นทางขึ้น


โยม –  คือทางตรงมีแต่ไม่เรียนกัน

พระอาจารย์ –  อือ แล้วยังมาตำหนิติเตียนว่า นี่ ไอ้ตรงอย่างนี้..ผิด ...แล้วก็มีคนยอมรับด้วยว่าผิด ด้วยความไม่ตั้งมั่นและหวั่นไหว เมื่อถูกกระทบด้วยคำพูดหรือเหตุผลต่างๆ นานา

พร้อมที่จะโง่ต่อไป ยินยอมที่จะโง่ต่อไป ยินยอมที่จะได้อะไรดีกว่านี้มากขึ้นต่อไป ...ทั้งๆ ที่ว่าการไม่ได้ ไม่มี ไม่เป็นน่ะ นั่นน่ะคือเป้าหมายสูงสุด ของพุทธะ ของธัมมะ ของสังฆะ

ไม่ใช่ตั้งเป้าจะเอามรรคผลนิพพาน ไม่ใช่เอาขั้นเอาตอน เอาภูมิจิตภูมิธรรมอะไรๆ มา ...ก็มันไม่มีอะไรเป็นที่ตั้งสุดท้ายอยู่แล้ว


(ต่อแทร็ก 1/30)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น