วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/28 (3)


พระอาจารย์
1/28 (25530428B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
28 เมษายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/28  ช่วง 2


พระอาจารย์ –  อย่าไปกังวล อย่าไปคิดว่าแย่หรืออะไร มันเป็นธรรมดาของจิตมนุษย์ ที่มันสะสมความเคยชินในการหลง หรือโมหะจิตมันจะเกิดขึ้นบ่อย 

อย่าท้อ อย่าขี้เกียจในการที่จะกลับมารู้เห็นกายเห็นจิตบ่อยๆ เนืองๆ ...เห็นแล้วไม่ดีก็ช่าง เห็นแล้วไม่ได้ดั่งใจก็ช่าง รู้มันเข้าไป ...อย่าไปแก้ อย่าไปทำขึ้นมาใหม่ แค่นั้นเอง 

ต้องอาศัยความอดทน ใจเย็น ไม่ใจร้อน ไม่เป็นคนช่างฝัน ...นักปฏิบัติมันเป็นนักช่างฝัน ฝันถึงสภาวะโน้นสภาวะนี้ สภาวะความหลุดพ้น สภาวะที่ไม่มีทุกข์อีกเลย นั่งอมยิ้มฝันหวานทั้งวัน เป็นสภาวะสุดยอด

อย่าไปช่างฝัน อันนั้นเป็นเรื่องของความปรุงแต่ง ...ไม่ทันแล้ว ปล่อยไหลไปตามความคิดเปล่าๆ  เพ้อ ละเมอเพ้อพก จิตน่ะ ช่างละเมอ โมหะจิต เพลิดเพลินไปกับความปรุงความแต่ง ความคิด

กลับมารู้...เออ กำลังนั่ง กำลังยืน กำลังคิด  กลับมารู้กลับมาเห็น รู้ตัวอยู่ เห็นตัว เห็นกาย เห็นจิตในปัจจุบันนั้นๆ เนืองๆ ...แล้วมันจะเข้าใจมากขึ้น ยอมรับได้มากขึ้น ไม่มีเงื่อนไขกับทุกสิ่งทุกอย่าง

โยมจะไม่มีเงื่อนไขกับลูกศิษย์มากขึ้น ปัญหามันจะน้อยลง ...ซึ่งแต่ก่อนเราอาจจะว่ามีแต่ปัญหา พูดไม่ฟัง บอกไม่ฟัง มันดื้อมันด้าน ...นั่น เราก็จะมีปัญหากับอาการพวกนี้น้อยลงไปเองนั่นแหละ

ด้วยการที่เรายอมรับ เข้าใจมั้ย ...มันก็ดื้อเหมือนเดิมน่ะ มันก็ไม่ยอมฟังเหมือนเดิมน่ะ  แต่เรายอมรับมากขึ้นปุ๊บนี่ ให้สังเกตดู ทุกข์เราจะน้อยลง แต่อาการเขายังเหมือนเดิมนะ

เพราะมันแก้ไม่ได้ บอกแล้วมันก็ไม่ฟังเหมือนเดิม สำหรับบางคน ...แต่เราก็ยอมรับในทุกสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงนั้นๆ  ไม่มีเงื่อนไข ไม่สร้าง ไม่แก้ปัญหาในลักษณะที่ว่าจะเอาชนะกัน

ไม่อย่างนั้นมันก็จะเกิดการที่ว่ามีอารมณ์ ...ถ้าเราต้องการที่จะเอาชนะเมื่อไหร่ อารมณ์ที่จะตามมาเป็นปฏิฆะ หรือว่าหงุดหงิด หรือว่ารำคาญ หรือว่าคับแค้น

พวกนี้เป็นอารมณ์ของปฏิฆะ ที่มันไม่ได้ดั่งใจ มีโทสะ ...มันเป็นความอัดแน่น บีบคั้น เป็นอาการของปฏิฆะเกิด ขุ่นมัว อึดอัด ต่อต้าน ไม่ได้ดั่งใจ

เพราะนั้นเรายอมรับ ไม่มีเงื่อนไข เงื่อนไขน้อยลง ปัญหากับสิ่งที่ปรากฏก็น้อยลง ...อารมณ์พวกนี้ ปฏิฆะ ความหงุดหงิด ความไม่ได้ดั่งใจก็จะน้อยลงไปเอง มันจะละเลิกกันด้วยความเห็นที่ตรง

แต่ถ้าไปตั้งความเห็นที่ไม่ตรงขึ้นมาปุ๊บ มันจะเพิ่มอาการของปฏิฆะ มันจะเพิ่มอาการของราคะ ...เพราะปฏิฆะกับราคะมันเป็นธรรมตรงข้ามกัน ที่เกิดพร้อมกัน

ปฏิฆะมาก แปลว่าราคะมาก ...คือถ้าอยากได้อะไร รักสภาวะไหนมาก  มันจะต้องเกลียดสภาวะตรงข้ามมากเท่ากันนั่นแหละ ...อันนี้เป็นธรรมคู่กันอยู่แล้ว

แต่ถ้าเราไม่ให้ค่ากับสภาวะใด หรือลักษณะอาการใด...ความที่ไม่ต้องการอารมณ์ที่ตรงกันข้ามกันก็จะน้อยลง ...เพราะนั้นตัวราคะกับปฏิฆะนี่มันจะเป็นธรรมที่ละได้พร้อมกัน

ถ้าราคะมากก็แปลว่าโกรธมาก เคียดมาก  ถ้าราคะน้อย อยากได้ อยากมี อยากเป็นน้อย ความขัดแย้งก็น้อยในอาการที่ปรากฏ ...มันจะเป็นธรรมอย่างนี้

เพราะนั้น ถ้าปรับความเห็นให้ตรงแล้ว มันจะเกิดอาการที่ไม่เลือกน่ะ ทั้งสิ่งที่พอใจและไม่พอใจ ...มันจะต้องไปเรียนรู้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเบื้องหน้าเรานี่แหละ ทั้งภายในตัวของเราเอง ทั้งรูปนามภายนอกที่มากระทบเรา

อย่าไปแก้ อย่าไปตั้งใจแก้ตรงนั้น แต่ตั้งใจมาเรียนรู้กับมัน สติมาเรียนรู้มัน เห็นมันตามความเป็นจริง ...แล้วมันจะเข้าใจสภาวะต่างๆ ว่ามันเป็นอย่างนี้ เราแก้ เราทำอะไรไม่ได้

มันเป็นธรรมชาติที่เขาจะต้องมี เขาจะต้องเป็น ...แล้วก็เป็นธรรมชาติของเราที่จะต้องมีเวรและกรรม มีหน้าที่เหตุปัจจัยที่จะต้องมาเนื่องกัน...เป็นธรรมดา มองให้เป็นเรื่องธรรมดา

การแก้ปัญหาก็แก้ไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง...ก็เป็นธรรมดา ...มันไม่มีอะไรเพอร์เฟ็ค ไม่มีอะไรสมบูรณ์ ไม่มีอะไรดั่งเป้าหมายหรอก

เพราะโลกนี้คือความบกพร่อง ความไม่เต็ม  ไม่มีคำว่าพอดี ไม่มีคำว่าสมบูรณ์  โลกนี้มันยังเบี้ยวเลย มันไม่กลมดิกน่ะ เห็นมั้ย นี่คือธรรมชาติ มันไม่มีอะไรเพอร์เฟ็คหรอก

แต่ความปรารถนา ความอยาก เราก็อยากให้มันเพอร์เฟ็ค หรืออยากให้มันดีกว่านี้ ...อันนั้นคือจิตที่มันต่อต้านหรือพยายามไปขัดแย้งกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ที่มันอยู่นอกเหนือการควบคุม

แต่ละรูปนาม แต่ละการกระทำ มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งอย่างนั้นๆ เป็นความเป็นจริงของเขา เขาแสดงความเป็นจริงของเขาอยู่แล้ว  แล้วเราก็ไปรับรู้ความเป็นจริงนั้นด้วยผัสสะ อายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ

แต่ด้วยความไม่รู้ของเรา ความไม่มีปัญญาของเรา พอไม่รู้ปุ๊บ มันจะเกิดอาการพอใจหรือไม่พอใจ ...แต่จริงๆ อาการเขาแสดงความเป็นจริงออกมา นั่นน่ะ

ถ้าเรารู้ มีปัญญา ปุ๊บ มันจะรับรู้อาการความเป็นจริงที่มากระทบกันนี่ ด้วยจิตที่เป็นกลาง หรือว่าไม่มีเงื่อนไข ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เป็นอาการกระทบกันเกิดขึ้น

อารมณ์เกิดขึ้น พอใจ-ไม่พอใจ...ก็เป็นแค่อาการตรงนั้น ...แล้วเราก็ไม่ยินดียินร้ายกับสภาวะที่ปรากฏ จิตก็เป็นความปกติหรือว่าธรรมดา

มันจะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ผ่านทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ แม้แต่ความคิดความจำของเรา ก็เป็นเรื่องธรรมดา ...ไม่มีบวกไม่มีลบตามค่า หรือว่าตามอุปาทาน

ความหมายของที่ว่าบวกลบถูกผิด อันนี้เป็นเรื่องของความหมายมั่น หรือเรียกว่าอุปาทานทั้งหมด ...เมื่อยอมรับความเป็นจริงมากขึ้น ความหมายมั่นหรือความเป็นอุปาทานในจิต ในสภาวธรรมที่ปรากฏ มันก็จะน้อยลงเป็นเงาตามตัว

เพราะนั้น พระพุทธเจ้าถึงเน้นเรื่องมัชฌิมามาก มัชฌิมาปฏิปทา หรือว่าอริยมรรค ...ท่านไม่ได้เน้นว่าทำอะไร ท่านไม่ได้เน้นว่าต้องนั่งอะไร ท่านไม่ได้ให้สร้างจิตขึ้นมาใหม่

ท่านไม่ได้เน้นให้สร้างสภาวธรรม ธรรมของเรา ขึ้นมาใหม่ ...แต่ท่านเน้นให้รู้ สติศีลสมาธิปัญญาก็เพื่อให้เกิดความตั้งมั่น เป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปตามอาการที่มากระทบ แค่นั้นเอง

กลับมาเรียนรู้ตรงนั้น แล้วมันจะปรับสติสัมปชัญญะของเราให้เป็นกลางมากขึ้นๆ ตรงมากขึ้นๆ ...เมื่อกลางมากขึ้น เราจะเห็นธรรมตามความเป็นจริงมากขึ้น

เราจะยอมรับธรรมตามความเป็นจริงนั้นได้มากขึ้น เราจะยอมรับทุกข์ตามความเป็นจริงนั้นได้มากขึ้น ...ยอมรับว่ามันทุกข์ แต่เราไม่ทุกข์ หาเราที่เข้าไปเสวยทุกข์ไม่มี เราจะไม่เป็นเจ้าของทุกข์

มันก็เป็นทุกข์สักแต่ว่าอาการของทุกข์ ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของเรา ...แม้แต่ร่างกาย จนแตกจนดับต่อหน้าต่อตาก็ยังไม่ใช่ของเรา มันมีแค่อาการของขันธ์ แต่ไม่ใช่อาการของเรา

มันก็ทุกข์ตามอาการของขันธ์ เจ็บเท่าเดิม ปวดเท่าเดิม แตกดับเท่าเดิมของเขา ตามอำนาจกำลังของเขา ...แต่เราไม่ไปเป็นทุกข์กับขันธ์นี้ต่างหาก

เพราะนั้นการปฏิบัติ ไม่ใช่เอาชนะขันธ์ ไม่ได้เหนือขันธ์เลย...แต่ยอมรับมัน เท่าที่มีเท่าที่เป็น ...แล้วจำไว้เลยขันธ์นี่ เท่าที่มีเท่าที่เป็นของมันสุดท้ายนี่...เป็นทุกขเวทนา

เจ็บก็เจ็บจนตาย ร้อนก็ร้อนตาย เวลาตายน่ะ ปวดก็ปวดจนตายน่ะ เวลาจะแตกดับนี่ ...มันไม่มีทางเลยที่มันจะนอกเหนือความเป็นจริงของขันธ์ได้

ขันธ์ทุกขันธ์ วาระสุดท้าย เวลาแตกดับน่ะ เป็นทุกขเวทนาทั้งนั้นแหละ ...ไม่มีใคร ไม่มีจิตดวงไหน ที่จะมาเอาชนะหรือว่าแก้ไข มีอิทธิพลหรือมีอำนาจที่จะไม่ให้มันไม่มีอาการอย่างนี้ได้

มีแต่จิตของพระอริยะเท่านั้น ที่ไม่เข้าไปมีไปเป็นกับมัน ไม่ได้เข้าไปใส่ อะโพสโตรฟี่เอส ('s) แค่นั้นเอง ...เพราะนั้นทุกข์เป็นเรื่องของทุกข์ ขันธ์เป็นเรื่องของขันธ์ 

เป็นธรรมดา...ท่านมองเห็นเป็นธรรมดา  ไม่ได้มองเห็นประหลาด ไม่ได้เห็นในแง่ของความว่าไม่น่าจะเป็นนะ ...แต่ท่านมองเห็นมันเป็นธรรมดา

เหมือนกับวาระของพระพุทธเจ้าที่ท่านบอกว่า “เธอทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท สังขารทั้งปวงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา”  ท่านพูดอย่างนี้นะ 

คนใกล้ตาย คนลมหายใจสุดท้าย ด้วยความปรารถนาดีต่อสัตว์โลก ท่านหยิบยกขึ้นมาพูดว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”

อยู่ด้วยความไม่ประมาท คืออะไร ...คือให้มีสติ ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเสื่อมไปเป็นธรรมดา  อย่าไปเอาชนะมัน ไม่มีใครชนะได้เลย

ขนาดพระพุทธเจ้าท่านก็ยังออกมาเตือนจนคำพูดสุดท้ายน่ะ ว่าอย่าไปเชื่อว่าเราทำได้ เราสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ...เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่ารูปไม่ว่านาม ไม่ว่าสภาวะธาตุสภาวธรรม

มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้แหละ ชั่วคราว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ...เมื่อเห็นตามความเป็นจริงแล้วนี่ ก็หมดปัญหาแล้ว เห็นแล้วก็ยอมรับขันธ์ได้ตามความเป็นจริง

จะมองเห็นร่างกายแตกดับไปแบบสบายๆ มองเห็นธรรมดา มองเห็นเป็นปกติ ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจเลย ไม่ได้เสียดายเลย ไม่ได้คิดเลยว่า ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้เลย

นั่นแหละวาระสุดท้ายของจิตของพระอรหันต์ เวลาท่านจะดับขันธ์นิพพาน ท่านเห็นขันธ์ดับไปแบบยอมรับว่า...เออ มันเป็นไปตามความเป็นจริง จริงๆ นะเนี่ย

ด้วยความที่ว่า ไม่มีปัญหากับขันธ์นั้นเลย  ก็มีความเห็นว่า เออ มันจริง จริงๆ แค่นั้นเอง ...คือการปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวง วาระสุดท้ายนี่ การดับขันธ์แล้วจิตที่เข้าไปมีไปเป็นกับขันธ์ก็ดับไปพร้อมกัน

จริงๆ น่ะท่านดับก่อนแล้ว ไม่มีไม่เป็นตั้งแต่ก่อนที่จะดับขันธ์แล้ว แต่ท่านมามองเห็นเหมือนกับเป็นเรื่องที่ พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกน่ะ มองด้วยจิตใจที่เป็นธรรมดา มันเป็นเช่นนั้นเอง

เอ้า ถามได้อีก หรือไม่รู้จะถามอะไรแล้ว


โยม –  ไม่มีแล้วค่ะ  

พระอาจารย์ –  ไปปรับเอา 


โยม –  เจ้าค่ะ คือเด็กนักเรียนนี่เขาจะเป็นยังไง...คือมันเยอะ แล้วเราต้องเรียบร้อย ไม่ได้

พระอาจารย์ –  อือ มองให้เป็นเรื่องธรรมดา เราก็ทำหน้าที่ของเราเท่าที่มี เท่าที่ทำได้...อันนี้คือหน้าที่ ...แต่ว่าผลนี่ แล้วแต่ แล้วแต่เหตุปัจจัยของรูปนามนั้นๆ  


โยม –  คืออย่างบางที ง่ายๆ ก็คือผู้บริหารเขาต้องการให้เด็ก ม.ปลาย เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันได้ ...เราก็ทำดีที่สุด แต่ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้  ก็คิดมาตลอดเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เด็กโตขนาดนี้ยังดี ครูบางคนที่มาหาเรานี่สอนเด็กเล็ก ปวดหัวเลย เหมือนจับปูใส่กระด้ง แล้วเครียด เด็กเล็กมันจะไม่ฟัง มันดื้อแบบดื้อสุดๆ

มันไม่เหมือนเด็กโต เด็กโตมันดื้อแบบมีเล่ห์เหลี่ยม (หัวเราะ) มันดื้อแบบ..มันจะเอาชนะครูด้วยลักษณะที่ว่ากูแน่กว่า แสดงอาการอะไรอย่างนั้น   


โยม –  แต่จริงก็คือยังเด็กอยู่ 

พระอาจารย์ –  ใช่ เราเป็นผู้ใหญ่เราจะรู้ พวกนี้มันจะคิดว่ามันแน่ ...จริงๆ มันยังมีอีกเยอะ มันไม่ได้อะไรหรอก เห็นมั้ย ชีวิตมันก็ต้องผ่านการเรียนรู้ ความเห็นก็ปรับไปปรับมา

แต่ว่ามันจะถูกปรับอย่างไรให้เป็นกลาง หรือจะถูกปรับอย่างไรให้มันเป็นไปตามอัตตาของมัน ...พวกนี้มันเป็นเหตุปัจจัยเฉพาะตัวแล้ว ว่ามีวาสนาบารมีมาอย่างไรในการที่จะปรับ

หรือมีเหตุปัจจัยมา...ที่จะเข้ามาสอนให้วิถีการดำเนินชีวิต ของจิตน่ะ ...อย่างเราบอก เราสอน มันไม่ฟังหรอก มันเป็นเรื่องของตัวของรูปนามนั้นๆ เคยสร้างปัจจัยใดมา

หรือมีวาสนาบารมีในลักษณะที่เจริญสติปัญญามาแต่เก่าก่อน มันก็จะมีเหตุปัจจัยให้กลับมาปรับวิถีให้ เกิดการเรียนรู้ในการวางตัววางจิต 

เหมือนอย่างพวกเรานี่ มันก็เคยสร้างสมมา ถึงได้ให้มีการน้อมนำไปในทางการปฏิบัติขึ้นมา ...อยู่ดีๆ มันไม่เกิดขึ้นมาเองได้หรอก มันเกิดมาจากการที่เราสะสมมา

มันก็สร้างเป็นนิสัยให้ ...เมื่อมีเหตุปัจจัยอันควร มันก็มีการขวนขวายมาในการศึกษาการปฏิบัติ จนกว่าจะถึงที่สุดของมัน 


................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น