วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/27 (2)


พระอาจารย์
1/27 (25530428A)
28 เมษายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  1/27  ช่วง 1

พระอาจารย์   แต่ถ้าการปฏิบัติอย่างไร กำหนดอย่างไร แล้วไม่เข้าใจสภาวะนี้ที่เราพูดมาทั้งหมดนี่ 

คืออาจจะดี อาจจะรู้สึกว่าแก้ได้ อาจจะรู้สึกว่าทำให้มันสงบระงับหรือว่านิ่งได้ หรือว่ามีความสุขได้ ...แต่ไม่เข้าใจสภาวะที่เราพูดมาตั้งแต่ต้น เราเรียกว่าไม่ตรงเป้าที่พระพุทธเจ้าต้องการ 

คือยังไม่จริง ...การดับทุกข์อย่างนี้ มันดับได้ชั่วคราว ดับไม่จริง ยังไม่ใช่ดับที่ต้นตอของมันที่แท้จริง ...แล้วมันยังมีโอกาสลุ่มหลงมัวเมาติดข้องในอาการพวกนี้ใหม่ในภายหลังได้อีก

เพราะนั้นจะแก้ขนาดไหน หรือแก้ได้ มีอุบาย หรือมีวิธีที่จะทำให้มันหายไปได้ จะทำให้มันนานมากกว่านี้ก็ได้ หรือว่าทำโดยที่ว่ากี่ครั้งๆ ก็ทำได้หมด พระพุทธเจ้าท่านก็ยังบอกว่า มันไม่แน่

เพราะมันยังไงๆ ทุกข์อันนี้ มันแก้ไม่ได้ ไม่งั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่บอกว่า ภาราหเว ปัญจักขันธา หรอก ...ขันธ์ทั้งห้านี่เป็นทุกข์ มันเป็นของหนัก เป็นภาระอยู่แล้ว

ยังไงๆ ไม่ว่าจะเป็นนักปฏิบัติธรรมขั้นไหน ไม่ว่าจะเป็นพระอริยะขั้นไหน  ท่านมีทุกข์อันนี้เป็นทุกข์ประจำกายประจำจิตอยู่แล้ว ...แต่ท่านอยู่กับมันได้ด้วยสันติ

ด้วยการยอมรับ ด้วยการที่ไม่ต่อต้าน ด้วยการที่ว่าไม่ผลักดันออกไป ด้วยการที่ไม่เอาชนะมัน หรือไปทำให้มันเป็นดั่งที่เราต้องการ ...ท่านไม่มีความปรารถนาอย่างนั้นแล้วต่างหาก

นั่นเรียกว่าท่านอยู่ด้วยปัญญา ท่านไม่ได้อยู่ด้วยความโง่งมหรือว่าอยู่กับความอยากหรือไม่อยาก เป็นต้นตอหรือเป็นเป้าหมายให้เรากระทำกับอาการของรูปและนาม

ที่พูดมาทั้งหมด ที่เล่ามาทั้งหมดนี่ ทั้งหมดนี่คืออาการ มันเป็นอาการของรูป เป็นอาการของนามทั้งหมด ...ทำไมถึงจะรู้ว่าเป็นอาการของรูป ทำไมถึงจะรู้ว่าเป็นอาการของนาม

อย่างที่เราถามว่า เดี๋ยวนี้ปวดไหม


โยม –  มันไม่ปวดแล้วค่ะ    

พระอาจารย์ –  แต่ตอนนั้นมันปวด เห็นมั้ย ทำไมถึงว่านี่เป็นอาการของรูปและนาม ...เพราะมันไม่เที่ยง ถ้ามันเที่ยงจริงน่ะ มันต้องปวดอยู่ตลอดสิ ...ก็ไม่ได้ไปทำอะไรกับมันใช่ไหม  มันก็เปลี่ยนของมันไป  

แต่ว่าตอนนี้ไม่ปวด เดี๋ยวพอไปเริ่มทำอะไรใหม่ซ้ำเดิม เดี๋ยวมันก็จะปวดขึ้นมาอีก เห็นมั้ย นี่เขาแสดงธรรมตามความเป็นจริงของรูปและนามให้เราเห็น ว่ามันแปรปรวน มันไม่ตั้งอยู่ มันไม่ถาวร 

มันเป็นอาการแค่ชั่วคราว ...ความหมายของคำว่าชั่วคราวนี่ ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเรารู้ตรงไหน มันจะต้องแสดงความชั่วคราวตรงนั้นนะ หรือจะต้องแสดงอาการแปรปรวนให้เห็นเดี๋ยวนั้นนะ...ไม่ใช่นะ

ก็อย่างที่เราถามนี่ บางทีเหตุปัจจัยต่อเนื่องอยู่ มันก็แสดงอาการของการตั้งอยู่ มันไม่ได้แสดงถึงการแปรปรวนให้เราเห็น แต่ยังไงๆ เดี๋ยวมันไม่มีทางที่มันจะตั้งอยู่ได้ชั่วนิจนิรันดรหรอก

นี่คือความเป็นจริงของรูปและนาม...ที่เขาแสดงความเป็นจริงของอาการตามธรรมชาติ หรือพูดง่ายๆ เขาอยู่ภายใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์

ถ้าเรายอมรับมันแล้วมีสติในการเห็นอาการพวกนี้ จิตมันจะเห็นไตรลักษณ์ ...สติมันก็จะทำให้เข้าไปเห็นว่า เนี่ย มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา มีมากบ้าง น้อยบ้าง เบาบ้าง หนักบ้าง นานบ้าง สั้นบ้าง 

มันก็ขยับไปขยับมา เดี๋ยวก็มานิ่ง นิ่งแล้วก็ขยับ ขยับแล้วก็มานิ่ง ...ถ้าเรามองด้วยสติที่รู้เป็นกลางๆ หรือรู้เฉยๆ นี่ เราจะมองมันด้วยความยอมรับ แล้วจะมองด้วยการที่ว่าไม่เลือกมอง 

หรือไม่เลือกรู้ว่าไอ้นี่ดี ไอ้นี่ไม่ดี ไอ้นี่ต้องให้นาน ไอ้นี่ต้องให้สั้น ไอ้นี่ต้องไม่ให้ปรากฏขึ้นมาเลยนะ ...อย่างนี้เขาเรียกว่าสติที่ไม่เป็นกลาง สติแบบเลือก สติแบบหมายมั่น 

สติแบบเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาตัวเราเป็นที่ตั้ง ...ถ้าอย่างนี้มันจะไม่เกิดอาการที่ว่าเห็นตามความเป็นจริง จะไม่เกิดความเข้าใจว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตาได้อย่างไร

เพราะตัวเราเป็นผู้ตั้งกฎของอนัตตาซะเองแล้ว คือตั้งกฎของเราเองว่าอันนี้เอา อันนี้ไม่เอา...อย่างนี้จะไม่เกิดปัญญาขึ้นมาได้เลย ...เพราะเราเลือกว่าต้องอย่างนี้เท่านั้นนะ 

ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาวิธีแก้ หรือหาวิธีว่า ทำยังไงให้มันได้อย่างที่เราต้องการ ...ถ้าอย่างนี้เรียกว่ามันไม่ใช่จุดประสงค์ที่พระพุทธเจ้าให้สร้างสติขึ้นมา

เพราะสติที่พระพุทธเจ้าสอนให้สร้างขึ้นมานี่ ท่านเรียกว่าเป็นสติในองค์มรรค หรือสติในอริยมรรค หรือสติในมัชฌิมาปฏิปทา ...ถ้าแปลอีกทีก็หมายถึงสติที่อยู่ในหลักของความเป็นกลาง 

คือสติที่ไม่มีเงื่อนไขน่ะ คือให้แค่รู้ ...ไม่ใช่ว่ารู้แล้วต้องอย่างนั้น รู้แล้วต้องอย่างนี้ รู้แล้วต้องน้อยลง รู้แล้วต้องมากขึ้น รู้แล้วต้องไม่มี รู้แล้วต้องดับ...อย่างนี้ไม่ใช่สติที่พระพุทธเจ้าสอน

ไอ้สติพวกอย่างนี้น่ะ พระพุทธเจ้าไม่ต้องสอนหรอก เขาสอนกันมานานแล้วในโลกนี้ ก่อนพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้นี่ สติพวกนี้เขาก็สอน สำนักต่างๆ เขาก็มีเยอะแยะ

สำนักของฤาษีก็มี สำนักของนักพรตก็มี สามารถกำหนดอะไรต่างๆ   ไปดูเอาสิ ฤาษีสมัยก่อน เดี๋ยวนี้ก็ยังมี นั่งใต้ดินนี่ฝังไว้เลย อีกเดือนหนึ่งมาขุดขึ้นยังไม่ตายเลย

เนี่ย เขาทำได้ด้วยการกำหนดสติแบบบังคับให้มันเป็นยังไงก็ได้...ตามกำลังที่จะเอาชนะขันธ์ชั่วคราวอย่างไร  เขาฝึกกันมาได้ตั้งนมนานกาเลแล้ว ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้อีก

เก่งจะตายพวกนี้ มีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ไม่กินอาหารเลยก็ได้ มีชีวิตอยู่แบบกึ่งอมตะเลยก็ยังได้ ด้วยการกำหนดสติแบบบังคับให้มันเป็นอะไรก็ได้ ปรับธาตุแปรขันธ์ไปตามที่ต้องการ อาศัยการฝึกฝน

เห็นมั้ย ไอ้อย่างนี้นี่เขาสอนกันมานมนานกาเลแล้ว ...แต่สุดท้ายแล้วตายแล้วก็กลับมาเกิดใหม่ ตายแล้วก็กลับมาเกิดใหม่ ซ้ำซากอยู่แค่นี้ ...มันไม่จบ ไม่ตรงจุด

พระพุทธเจ้าท่านก็เรียนรู้มาเมื่อสมัยท่านบำเพ็ญทุกรกิริยา ท่านก็เรียนกับสำนักต่างๆ ในการฝึกจิต ทำจิตอย่างไร ให้มีสภาวะดูเหมือนเป็นอมตะ ดูเหมือนไม่แตกไม่ดับ ดูเหมือนเอาชนะความดับความแตกความเกิดได้ 

ท่านก็ทำได้น่ะ ทำไมจะไม่ได้ ท่านได้หมด สมาบัติทั้ง ๘ รูปสมาบัติ ๔ อรูปสมาบัติ ๔ รวมแล้วเป็นสมาบัติ ๘ ท่านทำได้ ท่านควบคุมกาย ดูสิท่านอดข้าว กลั้นลมหายใจได้ตั้งเท่าไหร่ ท่านอยู่ได้น่ะ 

แต่สุดท้ายแล้ว ท่านปรารภที่ใจตัวเอง...มันก็ยังไม่ใช่น่ะ ท่านบอกยังไม่ใช่ ทำไมยังเป็นทุกข์อยู่ ทั้งๆ ที่ว่า ก็ดูเหมือนไม่เป็นทุกข์แล้ว ชนะมันได้ทุกอาการ แต่ทำไมท่านยังบอกว่ามันไม่ใช่

เพราะนั้น ท่านตรัสรู้แล้ว สิ่งที่ท่านกลับมาสอน ท่านกลับมาสอนเน้นเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา คือในทางของความเป็นสายกลาง...ไม่สุดโต่ง

การปฏิบัติธรรม...ไม่ใช่มาเอาชนะขันธ์ ไม่ใช่มาเอาชนะรูป ไม่ใช่มาเอาชนะนาม ...อะไรเกิดขึ้นก็แค่ให้รู้ รู้เฉยๆ แค่นั้นเอง แล้วก็ดูอาการต่อไปของมัน

อาการที่ดีดดิ้นภายใน อาการที่มันสงสัยลังเล อาการที่มันอยากหาวิธี อาการที่มันอยากจะมี อยากจะเป็นอะไร อยากจะได้อะไร อยากจะเกิดสภาวะอะไร

ให้เรารู้กับมันเฉยๆ ดูมันแสดงอาการไป ด้วยสติที่เป็นกลาง โดยที่เราไม่ต้องบอกว่า จะต้องได้อะไร จะต้องรู้อะไร จะต้องให้มันเป็นอะไร

แต่เราดูอาการตามที่มันปรากฏนั่น เพื่อฝึกให้เกิดสติเป็นกลาง ฝึกที่จะให้เกิดสติในองค์มรรค ฝึกที่จะให้เกิดสติที่ไม่เป็นสติที่สุดโต่งว่า...ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้

ไอ้การปรารภจิตด้วยคำว่าต้อง หรือการปรารภจิตว่าควร หรืออะไรพวกนี้ มันจะน้อยลง ...มันจะเป็นว่า อะไรก็ได้ อะไรเกิดขึ้นก็ได้ แล้วก็รู้แล้วก็เห็นมันตามอาการนั้นๆ อยู่แค่นี้

เพราะนั้นถ้าจิตมันเข้าสู่สติที่เป็นกลาง หรือเริ่มเป็นกลางมากขึ้น มันจะไม่มีบอกว่าดีหรือไม่ดี มันจะไม่มีบอกว่าถูกหรือผิด มันจะไม่มีบอกว่าใช่หรือไม่ใช่

มันจะมีแต่ความรู้สึกที่รับได้ในทุกสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่มีเงื่อนไข ...นั่นน่ะมันจะเริ่มเข้าใจแล้วว่า สติที่เป็นกลางจริงๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านปรารถนาหรือสั่งสอนให้เจริญขึ้นในองค์มรรค ก็จะเรียกว่าตรงแล้ว

แต่ถ้าเป็นการฝึกที่ยิ่งทำแล้วยิ่งรู้สึกว่ากระหาย หรือหิวโหยมากขึ้น อยากได้มากขึ้น อยากดีมากขึ้น อยากให้เห็นสภาวะอะไรที่ละเอียดมากขึ้น ...ให้รู้เลยว่าสติที่เราประกอบกระทำนั้นๆ เป็นสติที่เจือปนด้วยตัณหา 

แล้วต้องจับขโมยให้ได้ จับตัวที่มันแอบมากับสติตรงนั้นให้ได้ แล้วก็เมื่อเห็นมันแล้ว...ไอ้ตัวที่แอบแฝงมากับสติน่ะ ถ้ามันเห็นสิ่งที่แอบแฝงมากับสติตัวนั้น แล้วมันจะคัดกรองตัวนั้นออกไป สติก็จะเป็นกลางมากขึ้น

เพราะนั้นเราจะไม่บอกว่าทำถูกหรือผิดอย่างไร แต่พูดโดยนัยยะโดยรวม...ในการที่จะฝึกฝนให้เข้าสู่หลักของการที่พระพุทธเจ้าต้องการให้รู้น่ะ 

ท่านไม่ได้สอนให้สร้างจิตใหม่ ท่านไม่ได้สอนให้สร้างสภาวะอะไรขึ้นมาใหม่ ท่านไม่ได้สอนให้สร้างรูปขึ้นมาใหม่ 

แล้วเวลาพวกเราปฏิบัติ เราปรารถนารูปใหม่รึเปล่า เราปรารถนานามใหม่รึเปล่า...ในการกำหนดของเรา ถ้าเราเห็นอาการพวกนี้ มันจะเข้าไปปรับให้ ปรับการเจริญสติให้ตรงขึ้น เป็นกลางมากขึ้น

แต่ถ้าสติที่ไปกำหนดแล้วมันกลับมีความปรารถนาจะให้ได้รูปใหม่ที่ดีกว่า เวทนาใหม่ที่สุขุมลุ่มลึกกว่านี้ ละเอียดกว่านี้ หรืออาการของจิต สภาวะจิตใหม่ที่ดูดีกว่าตอนนี้

ให้รู้ไว้เลยว่ามันเป็นสติที่เจือปนด้วยตัณหา ...ต้องคัดกรองให้ออก แล้วเอาแต่สติล้วนๆ ที่เป็นกลางจริงๆ เป็นสติที่เป็นธรรมชาติของการระลึกรู้ตามความเป็นจริง

ตรงนั้นถึงจะเรียกว่า สติจึงจะเริ่มเข้าสู่องค์มรรค หรือว่าอยู่ในมรรค แล้วมรรคนี้มันจะตรงมากขึ้น แข็งแกร่งในองค์มรรคมากขึ้น ความเข้าใจ ความชัดเจน มันก็จะมากขึ้นตามไป

ก็ตามกำลังสติที่ว่า...ตรงในองค์มรรคหรือเปล่า ...ถ้าไม่ตรงในองค์มรรค สติที่คลาดเคลื่อนจากองค์มรรค หรือว่าแกว่งไปในอัตตกิลมถานุโยค หรือกามสุขัลลิกานุโยค

มันจะเกิดความลังเล มันจะเกิดสงสัย เป็นผลข้างเคียง มันจะเกิดความขุ่นมัว มันจะเกิดความเศร้าหมอง มันจะเกิดอาการกระสับกระส่ายไม่ชัดเจน เหมือนกับหิวโหยอยู่ตลอด เหมือนกับหาอะไรก็ไม่รู้อยู่ตลอด 

นี่ให้รู้ไว้เลยว่า มันยังเป็นสติที่เข้าไประลึกรู้ด้วยแรงของตัณหา มันสอดแทรกอยู่ในนั้น ...ต้องปรับให้ตรง ปรับสติให้ตรง เป็นสติที่แค่กลับมารู้เฉยๆ ในทุกสิ่งที่เราเข้าไปรู้ 

ไม่ต้องว่าอะไร ไม่ต้องว่า..ต้องอย่างนั้นไหม ต้องอย่างนี้ไหม ...เพราะนั้นเวลามันจะว่าอย่างนั้นไหม อย่างนี้ไหม อันนั้นน่ะ มันเป็นความคิดขึ้นมาแล้วใช่มั้ย มันมีความปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว 

มันเลือกสภาวะใหม่ให้เราอยากได้มันขึ้นมา แล้วเราก็จะเริ่มหลุดจากฐานของเราไปเรื่อยๆ แล้ว เกิดความวิตกกังวล ไปคลอเคลียกับอาการนั้น เช่นว่าอาการเราปวด ก็จะไปคลอเคลียกับอาการที่ไม่ปวด

มันจะสร้างภพขึ้นมารองรับ ให้เราคอยว่า ทำยังไงมันถึงจะหายๆ ...ไอ้อาการที่ว่ามันจะหายจากเวทนา นั่นคือภพที่จิตมันสร้างหลอกขึ้นมา เป็นตัวล่อให้เราไปเสวยมันให้ได้

เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์มากขึ้น เมื่อได้ก็ยิ้มดีใจว่าเราชนะมัน เราได้แล้ว เสร็จแล้วมันจะซ้ำซากอยู่ตรงนี้ ...เพราะอะไร  เพราะมันไม่หายไปไหนหรอก ทุกข์น่ะ มันอยู่กับเราจนตาย ทุกข์ของรูปและนามนี่

นี่ยังอายุขนาดนี้ ถ้าสักห้าสิบปี หกสิบปีขึ้นไป มันจะอยู่แบบเป็นเพื่อนซี้กันเลยอ่ะ ...ลุกขึ้นก็โอยยย นั่งก็โอยยย  มันจะเป็นแบบบัดดี้เลย หนีไม่พ้นมันเลย

หายใจก็จะติดๆ ขัดๆ  ความจำก็เลอะๆ เลือนๆ สมอง ได้นั่นมั่งได้นี่มั่ง ลืมไปหมด ทำอะไรแล้วก็ลืม ทำข้างหน้าลืมข้างหลัง เอ้า ทำข้างหลังลืมข้างหน้า


(ต่อแทร็ก 1/28)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น