วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/29 (1)



พระอาจารย์
1/29 (25530523A)
23 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  4  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เมื่อวานนี้ตั้งแต่ฉัน ยันหกโมงเย็น ก่อนเมื่อวานนั้นก็ยันสามทุ่ม ...มากัน..ทั้งคนทั้งพระ สลับกันไป เหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรี (หัวเราะ)

ผู้คน...มีแต่ทุกข์กับทุกข์ หาทางออกจากทุกข์ หาทางแก้ทุกข์...แต่ไม่ยอมรับทุกข์  มันบริหารทุกข์ไม่เป็น บริหารวิถีกายวิถีจิตกับทุกข์ไม่เป็น ...ก็ต้องมาเรียนรู้วิธีบริหารชีวิต

บริหารกายวาจาจิตยังไง กับสิ่งรอบข้างตัวเรา ...ที่จะเกิดความพอดี เกิดความเป็นกลาง เกิดความเท่าทัน เกิดความยอมรับ เกิดความที่ไม่ให้ไปหมายมั่นในสิ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา

ก็มีอยู่วิธีเดียวคือวิถีทางแห่งพุทธะเท่านั้น ...วิถีทางอื่น หลักปรัชญาอื่น ความเห็นความเชื่อลัทธิอื่นๆ มีแต่จะก่อให้เกิดปัญหา หรือว่าก่อให้เกิดทุกข์มากขึ้นไปไม่รู้จักจบสิ้น

การแก้ด้วยวิธีอื่น นอกเหนือจากวิถีแห่งพุทธะหรือว่านอกหลักแห่งพุทธะจริงๆ นี่  ไม่มีคำว่าจบสิ้น จะไม่ได้ถึงที่สุดแห่งความจบสิ้นเลย ...มีแต่ว่าการก่อเกิด การต่อเนื่อง การสืบต่อ

เพราะนั้น ผู้ที่มีปัญญาหรือแสวงหาทางออกที่แท้จริง ก็จะกลับมาสู่หลักของวิถีแห่งพุทธะ หรือว่าศิลปะการใช้ชีวิตแบบพุทธ ...ซึ่งก็ไม่หนีพ้นไปจากการกลับมาดำเนินวิถีแห่งมัชฌิมา

หรือว่าวิถีความเป็นกลาง หรือว่าความพอดี หรือความเป็นปกติ หรือความเป็นธรรมดา หรือการไม่เข้าไปสร้างความเห็น สร้างความคิด สร้างความแบ่งแยก สร้างความเห็นแตกต่างในจิต

แล้วก็พยายามเท่าทัน...เมื่อมันจะสร้างความแตกต่าง ก็ต้องเท่าทันในการที่จะแบ่งถูกแบ่งผิด แบ่งดีแบ่งชั่ว แบ่งชอบแบ่งไม่ชอบ แบ่งรักแบ่งเกลียด...ต้องให้เท่าทันระหว่างจิตที่มันจะแบ่งแยกออกไป

เมื่อเท่าทันบ่อยๆ บ่อยๆ ขึ้น  มันก็จะกลับมาอยู่จิตดวงเดียว กลับมาเป็นแค่รู้ที่เป็นหนึ่ง  รู้เฉยๆ รู้เป็นธรรมดา ...กลับมาอยู่ที่เป็นธรรมดา ปกติธรรมดา

ไม่ต้องไปออกไปกับความคิด ไม่ต้องไปตามความคิดอะไรขึ้นมากับสิ่งที่มันเร้าจิตเร้าใจเราสิ่งเร้ามันก็มีอยู่ตลอดเวลา ตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็ความคิดของตัวเราเอง

มันจะเป็นตัวเร้าให้เกิดความเห็นมากขึ้นๆ เกิดความเห็นที่แบ่งแยก เกิดความเห็นที่แตกต่าง เกิดความเห็นเป็นเราเป็นเขา เกิดเป็นความเห็นที่ว่าถูกที่ว่าผิด

พวกนี้ ถ้าเราไม่เท่าทัน หรือว่าสร้างแล้วก็ไหลไปตามความเชื่อในความเห็นนั้นๆ  โอกาสที่จะต่อเนื่องไป อย่าคิดว่าเป็นสุข...สุดท้ายแล้วคือทุกข์กับทุกข์

พระพุทธเจ้าถึงสอนให้กลับมารู้เท่าทัน ณ ภายในของเราทุกคนไป  ได้มากก็เอามากรู้มาก ได้น้อยก็รู้น้อย ...กลับมาอยู่ตรงนี้ ในขณะที่มันจะคิดออกไป

มันจะสร้างความเห็น มันจะมีความเห็นอะไรออกไป  ก็รู้อยู่ในความเห็นนั้นๆ ...แล้วก็ไม่ตามความเห็นออกไป แล้วก็ไม่เพิ่มความเห็นนั้นเข้าไป

สุดท้ายจิตมันก็จะคลายออก ด้วยหลักของไตรลักษณ์อยู่แล้ว ...ถ้าเราไม่ไปต่อมัน ไม่ไปสร้างมันเพิ่ม  มันตั้งอยู่ไม่ได้หรอก ความคิดก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ความเห็นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ อารมณ์ก็ตั้งอยู่ไม่ได้

ถ้าเราไม่ไปต่อให้มัน หรือไปให้ความสำคัญกับมัน ...มันก็จะหมดกำลังของตัวมันเองนั่นแหละ เพราะว่ามันหนีไม่พ้นกฎของไตรลักษณ์อยู่แล้ว

พระพุทธเจ้าให้กลับมารู้ รู้อยู่เฉยๆ รู้เป็นธรรมดา มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดากับมัน เป็นการหยุดการปรุงแต่ง ไม่ต่อเติม ไม่ไปประคับประคองให้มันตั้งอยู่นานๆ ...แค่นี้

นั่นแหละศิลปะการใช้ชีวิตแบบพุทธะ คือการวางกายวางจิตยังไง ให้มันสามารถจะกลับมารู้เฉยๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ...มันยากตรงนี้ ปัญญาก็จะต้องเกิดตอนนี้

ในการที่จะทำยังไงให้มันกลับมารู้เฉยๆ ทำยังไงให้กลับมาเห็นมันเป็นธรรมดา ทำยังไงที่จะให้มันสักแต่ได้ยิน สักแต่ได้ฟัง ...ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปข้องเกี่ยว หรือเอาความเห็นของเราเข้าไปข้องเกี่ยว

คำว่าไม่เอาเราเข้าไปข้องเกี่ยวนี่ ไม่ได้หมายความว่ายกเอาตัวของเรา เราไม่เอาตัวของเราไปร่วมกับขบวนการ หรือว่าเหตุการณ์ภายนอก

แต่หมายความว่า ไม่เอาความเห็นของเราเข้าไปข้องเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง..แค่นี้เอง ...เรียกว่ากลับมาอยู่ในที่ที่เรียกว่ากายจิตอันเดียว ไม่แตกแยกออกไป

จิตมันก็จะรวมเป็นหนึ่งอยู่ที่รู้เป็นปกติ รู้ธรรมดา...กับสิ่งที่หมุนวนหมุนเวียน รายล้อม ล้อมรอบตัวเราภายนอก แล้วก็ล้อมรอบจิตภายใน ...ก็คือกาย แล้วก็ล้อมรอบตัวจิตภายในก็คืออาการของจิต

ก็กลับมาเห็นอาการทุกอาการน่ะ เป็นเรื่องธรรมดา ...แม้แต่ว่าธรรมารมณ์ภายในมันจะปรุงแต่งออกมาเป็นความคิด เป็นสัญญาอารมณ์เดิม เป็นอารมณ์ที่เกิดจากความปรุงแต่งไปข้างหน้าก็ตาม

ก็จะเห็นเป็นธรรมดา...แล้วก็ความปรุงแต่งนั้นมันจะดับไปเองเป็นธรรมดาเหมือนกัน  ถ้าเราไม่เข้าไปให้ค่า ให้ความหมายมั่น ให้ความสำคัญ ให้ความรู้สึกถูกผิดตามความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมา

มันก็จะเห็นเป็นธรรมดา อะไรมันปรากฏก่อเกิดแล้วมันก็จะดับไปเป็นธรรมดา อยู่เนืองๆ อยู่เป็นนิจ ...ตรงนั้นคือการสร้างสม สั่งสมปัญญาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ

ต่อไปมันก็จะสามารถรับรู้อาการต่างๆ ทั้งภายนอกภายใน...แต่รับรู้ด้วยความเป็นธรรมดา ไม่ได้ตื่นเต้น ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้ดีใจ ไม่ได้เห็นร่วม หรือไม่ได้ต่อต้าน หรือว่าไม่ได้ขัดแย้ง

เรียกว่าไม่ได้ไปยินดียินร้าย...กับสิ่งที่มันเกิดขึ้นหรือปรากฏต่อหน้าเรา...ทั้งภายนอกและภายใน ...นั่นแหละคือปัญญา นั่นแหละคือวิถีแห่งพุทธะ

ที่พระพุทธเจ้าวางหลักมัชฌิมาปฏิปทาไว้ ...เพื่อให้กายและจิตดำเนินอยู่ในสายนี้ตลอด คือว่าความเป็นกลาง หรือว่าความพอดี หรือว่าความไม่สุดโต่ง

ไม่หลงในความคิดใดความคิดหนึ่ง ในการกระทำใดการกระทำหนึ่ง..ว่าถูกว่าผิด ...นั่นแหละเรียกว่าวิถีแห่งพุทธะที่แท้จริง หรือว่าพุทธวิถี หรือพุทธวิธี หรือว่าอริยมรรค หรือว่ามัชฌิมาปฏิปทา

แต่ถ้าไม่มีปัญญา แล้วยังไม่อยู่ในรากฐานหรือเส้นทางแห่งมรรค หรือเส้นทางมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว ...มันมีแต่ทุกข์ กับทุกข์มากขึ้น แล้วยังเผื่อแผ่ทุกข์ให้ผู้อื่นอีกต่างหาก

เมื่อเราเผื่อแผ่ทุกข์ให้คนอื่น ...ไอ้คนที่เราเผื่อแผ่ให้ เขาก็จะย้อนกลับมาสนองให้เราเป็นทุกข์เหมือนเดิม ซ้ำซ้อนกันอยู่อย่างนั้น ตกคลั่กกันอยู่อย่างนั้น

กลับมารู้ กลับมาอยู่กับความพอดีภายในกายปัจจุบันจิตปัจจุบันนี่ มันพอดีอยู่แล้ว  ไม่ต้องไปเพิ่มไปลดอะไรกับมันหรอกสิ่งที่อยู่ในปัจจุบันนี่ ...ถือว่าสิ่งที่เรารู้อยู่ในปัจจุบันนี่ คือความพอดีแล้ว

ไม่ว่ามันจะปรากฏอะไรขึ้นมา ก็แค่รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปตีโพยตีพาย ไม่ต้องไปยินดียินร้าย แม้จะเป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่ปรากฏในขณะนี้

รู้เฉยๆ ทำเหมือนว่ามันไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั่นแหละ ทำเหมือนมันไม่มีสาระสำคัญเพียงพอที่เราจะต้องไปทะนุถนอม เอื้ออาทร หรือตื่นเต้นตกใจไปกับอาการต่างๆ นานา

จนชำนาญ จนเคยชิน แล้วสุดท้ายมันจะสลายไป ผ่านไปๆ ...ทุกข์ที่เราเคยว่าเป็นทุกข์กับมัน หรือมันทำให้เราทุกข์  มันก็เหมือนกับมันมีค่าน้อยลง ...ค่าที่เราเคยตั้งว่ามันเป็นทุกข์น่ะจะน้อยลง

มันก็เป็นทุกข์ตามความเป็นจริงของมันเท่านั้นเอง ...ไม่ใช่ทุกข์ที่เกิดจากการที่เราไปตั้งค่า หรือไปกำหนดว่านี่ อย่างนี้เรียกว่าทุกข์นะ อย่างนี้เรียกว่าไม่ดี อย่างนี้เรียกว่ารับไม่ได้

เนี่ย อันนี้คือเกิดเป็นทุกข์ที่เกิดจากการที่เราไปตั้งค่าให้มัน มันก็น้อยลง ...มันก็เหลือแต่ทุกข์ในตัวของมันเองนั่นแหละ คืออาการตามความเป็นจริงนั่นเอง

กายหรือว่าใจนี่ คืออาการตามความเป็นจริง คือเป็นทุกข์อยู่แล้วหรือว่าทุกขสัจ ...แต่ที่มันจะไปคลาย คือไอ้ตัวที่เราไปให้ค่ากับอาการตรงนั้น ในปฏิกิริยาของจิตของเรา ที่มันแสดงอาการต่างๆ นานา

เพราะนั้นเวลาเราเข้าไปให้ค่า ก็พยายามรู้ทัน เห็นให้ทัน...แล้วรู้อยู่ แล้วก็ไม่ต่อมัน ไม่เพิ่มมัน หรือไม่รักษามัน ...มันก็จะคงอยู่ไม่ได้ แปรเปลี่ยน หมดกำลังไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

ทุกอย่างมันมีอายุขัย ใช่ไหม ชีวิตเราก็มีอายุขัย โต๊ะเก้าอี้นี่ก็มีอายุขัยของมันเอง ...ตั้งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องไปทุบไปทำลายมันหรอก มันก็มีอายุขัยของมันอยู่แล้ว ทุกอย่าง

อารมณ์ อาการของจิต ความรู้สึก ความเห็น ความคิด ทุกอย่างมันมีอายุขัยในตัวของมันเอง คือตัวของมันเองน่ะจะถูกกลืนกินด้วยตัวของมันเอง...ไตรลักษณ์นั่นแหละเป็นตัวที่กลืนกินสรรพสิ่งอยู่แล้ว เป็นธรรมดา

เราไม่ต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจกับมัน เราไม่ต้องไปช่วยให้มันถึงอายุขัยเร็วขึ้น หรือว่าดับอายุขัยของมันให้เร็วขึ้น หรืออันไหนที่อยากจะต่ออายุขัยของมันให้ยืดยาวออกไป ...ก็ไม่ต้องไปช่วยอะไรมัน

นั่นแหละ เขามีอายุขัยของเขา จะมากจะน้อย จะนานจะไม่นาน จะสั้นจะยาว จะอะไรก็ตาม ...ถ้าเราไม่ยุ่งกับมัน เขาจะมีอายุขัยหรือเขามีเหตุปัจจัยในการตั้งอยู่ของเขาเองอยู่แล้ว

เราไม่ต้องไปช่วยในการที่จะให้มันตั้งอยู่ หรือจะไปช่วยให้มันดับลง ...นั่น ตรงนั้นเรียกว่าอยู่ด้วยความเป็นกลาง แล้วทุกสิ่งมันก็จะเป็นไปตามจริงของมัน

เขาเป็นจริงในการเกิดขึ้น เขาเป็นจริงในการตั้งอยู่ เขาเป็นจริงในการดับไป แล้วเขาก็พร้อมที่จะจริงเมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ ...แล้วเราจะเห็นอย่างนี้..ตามความเป็นจริง


(ต่อแทร็ก 1/29  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น